เปิดภารกิจ "หมอทวีศิลป์" ดันสมุนไพรไทยสู่เวทีโลก

05 ก.ค. 2567 | 02:00 น.

"หมอทวีศิลป์" อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ เปิดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนสมุนไพรไทยครบวงจร เชื่อมโยง ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ หวังผลักดันไทยสู่การเป็น Medical & Wellness Hub ระดับโลก

KEY

POINTS

  • ข้อมูล ยูโร มอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยมีมูลค่าค้าปลีกสูงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน อันดับ 4 ของเอเชียและอันดับ 8 ของโลก
  • ปี 2566 ผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศมีมูลค่า 56,944 ล้านบาท มีผลงานวิจัยมากกว่า 141 โครงการ เพิ่มมูลค่าการส่งออกได้กว่า 6,604 ล้านบาท 
  • เป้าหมายของแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 –2570 ในปี 2570 ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 104,000 ล้านบาท


 

จากนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้ประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็น Medical & Wellness Hub โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ คือ การเพิ่มมูลค่าการตลาดอุตสาหกรรมการแพทย์และสมุนไพรไทยในตลาดโลก

ข้อมูลจาก ยูโร มอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทยมีมูลค่าค้าปลีกสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน อันดับที่ 4 ของเอเชียและอันดับ 8 ของโลก ขณะที่ตามเป้าหมายของแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 –2570 ในปี 2570 ตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 104,000 ล้านบาท

"ฐานเศรษฐกิจ" มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการขับเคลื่อนแผนงานต่าง ๆ เพื่อเดินไปให้ถึงจุดหมายปลายทางนั้น 

จากวิสัยทัศน์ "IGNITE THAILAND" ของท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นภาพวิสัยทัศน์ผู้นำประเทศที่มีคำว่า สปาไทย นวดไทย และสมุนไพร ไทยสู่เวทีโลกซึ่งเป็นเรื่องที่เราก็ดีใจ ไม่ใช่แค่ กรมการแพทย์แผนไทยฯ เท่านั้นแต่รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร การค้าขาย พาณิชย์ ที่ต่างก็ดีใจกัน

หลังจากรับโจทย์นี้มาทางท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ได้สั่งการมาว่า จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจสุขภาพถูกขับเคลื่อนตามนโยบายที่ท่านนายกฯตั้งเป้าเอาไว้โดยได้สั่งการให้กรมดำเนินการเรื่องนี้ต่อ

เปิดภารกิจ \"หมอทวีศิลป์\" ดันสมุนไพรไทยสู่เวทีโลก

เมื่อได้มาดูเราพบประเด็นที่เชื่อมโยงอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรก คือ ส่วนของ "ต้นน้ำ" ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมีทั้งหมด 157 ล้านไร่ ประชากรเกือบ 50% เป็นเกษตรกรและเมื่อลงลึกในส่วนของพื้นที่การปลูกสมุนไพรโดยที่ผ่านมาถูกขับเคลื่อนภายใต้ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์ สมุนไพร พ.ศ.2562

โดยมี "คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ" ที่มี นายกฯ เป็นประธาน (ในขณะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน) ได้ให้นโยบายว่า ต้องเปิดพื้นที่ให้มีการปลูกพืชสมุนไพรให้มากขึ้นซึ่งก็ได้ขับเคลื่อนกันมาโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากพื้นที่ปลูกหลักหมื่นไร่ในปัจจุบันขยายเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1 ล้านไร่

ทั้งนี้ สำหรับพืชสมุนไพรนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 4 ระดับด้วยกัน ระดับที่ 1 คือ สมุนไพรที่เป็นวัตถุดิบกับสมุนไพรสารสกัด ระดับที่ 2 คือ อาหารเสริม ระดับที่ 3 คือ เวชสำอาง และระดับที่ 4 คือ ยาสมุนไพร

ประเทศไทยเรานั้นสามารถทำได้ทั้ง 4 ขั้นตอนแต่ยังไม่มีความชัดเจนมากนักส่วนใหญ่ยังเป็นวัตถุดิบแล้วส่งออกซึ่งถ้าเราสามารถพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับของทางตะวันตก เช่น เยอรมนี ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการคิดค้นยา (ระดับที่ 4) หรือ ออสเตรเลีย ที่ได้ยินบ่อย ๆ ก็เป็นเจ้าของเทคโนโลยีด้านอาหารเสริมเรื่องของวิตามิน (ระดับที่ 2)

เปิดภารกิจ \"หมอทวีศิลป์\" ดันสมุนไพรไทยสู่เวทีโลก

ส่วนเวชสำอาง ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ ประเทศเกาหลีและญี่ปุ่นซึ่งเมื่อเทียบกับไทยเราอยู่ระดับที่ 1 แต่ข้อดีของเรา คือ มีพื้นที่เกษตรที่เหมาะสม ได้มีการส่งเสริมพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร ในส่วนของต้นน้ำมีการขยายพื้นที่เพะปลูกสมุนไพรจาก 1.8 หมื่นไร่ เป็น 1,059,818 ไร่ เกษตรกรปลูกสมุนไพรเพิ่มขึ้นจาก 5,400 ราย เป็นกว่า 3.6 แสนราย

เสริมแกร่ง "ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ" สมุนไพรไทยสู่เวทีโลก  

"หากเปรียบเทียบกับประเทศที่กล่าวมาทั้งหมด ประเทศไทยต้นทุนดีแต่เรายังขาดเรื่องของเทคโนโลยีที่จะทำให้ขยับขึ้นไปในระดับ 2, 3 และ 4 เราต้องขยับไปในระดับที่สูงขึ้น

ที่น่าสนใจ คือ ปัจจุบันประเทศไทยมีวิสาหกิจชุมชนอยู่จำนวนมาก มีเทคโนโลยีการปลูก รวมไปถึงการจัดระบบ ระเบียบต้นทางที่ดีพอสมควร แม้แต่เกษตรอินทรีย์ก็เป็นที่สนใจซึ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องมาทำงานร่วมกัน" นพ.ทวีศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าว

ในส่วนของ "กลางน้ำ" ซึ่งเป็นส่วนของอุตสาหกรรมพบว่า ปัจจุบันมีโรงงานอุตสหกรรมอยู่ประมาณ 30,000 แห่งทั่วประเทศไทย ในจำนวนนี้มีประมาณ 1,000 โรงที่เกี่ยวโยงกับสมุนไพรไทยและมี 11 แห่งที่เป็นโรงงานสารสกัดและมีโรงพยาบาลที่ผลิตยาสมุนไพรตามมาตรฐาน WHO GMP ทั่วประเทศ 46 แห่ง คิดเป็นมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพทั่วประเทศ เฉลี่ยปีละ 1.5 พันล้านบาทซึ่งมีช่องว่างที่สามารถจะพัฒนาได้อีกมากโดยนำภูมิปัญญาที่มีไปต่อยอด

ขณะที่ส่วนของ "ปลายน้ำ" วันนี้เราได้ใส่เข้าไปในระบบสุขภาพของคนไทย เช่น ที่ รพ.อุดรฯ ปัจจุบันหันมาใช้ยาสมุนไพรไทยอย่างขมิ้นชันเพื่อช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ไม่ได้สั่งจ่ายยาของตะวันตกแล้ว 100% ทั้งหมอและคนป่วยยอมรับตำรับยาที่มีส่วนผสมของขมิ้นชันซึ่งมีงานวิจัยรับรองว่า ช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อและลดกรดได้ ซึ่งเรามี รพ.ในสังกัดกระทรวงเกือบ 1,000 แห่งที่สามารถนำไปใช้ได้

เปิดภารกิจ \"หมอทวีศิลป์\" ดันสมุนไพรไทยสู่เวทีโลก

เราติดปัญหาอยู่ตรงที่ความคิดทัศนคติของคนไทยเองที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพึ่งพิงยาจากตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ทั้ง ๆ ศาสตร์ของเราเหล่านี้มีสิ่งยืนยันอยู่แล้ว ถูกใช้ในมนุษย์ไม่ได้ใช้ทดลองในสัตว์ว่าใช้แล้วหาย ใช้แล้วดี

สิ่งเหล่านี้ล่าสุดทาง WHO ก็มีการรับรองถูกพูดถึง หรือที่เรียกว่า Traditional Health ประเทศไหนใช้การแพทย์ดั้งเดิมและมีประวัติศาสตร์ชัดเจน WHO รับรองและนำมาใช้ดูแลคนในประเทศมาอย่างยาวนานผสมผสานไปกับเรื่องของแพทย์แผนตะวันตกได้ นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเปิดโอกาสการใช้สมุนไพรไทยให้มากขึ้น

ในปี 2566 ผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศมีมูลค่า 56,944 ล้านบาท มีการส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรมากขึ้น โดยพัฒนาต่อยอดสมุนไพรแชมเปี้ยน 12 รายการ มีผลงานวิจัยมากกว่า 141 โครงการ เพิ่มมูลค่าการส่งออกได้กว่า 6,604 ล้านบาท และยังเพิ่มการลงทุนเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมเป็น 3,631 ล้านบาท โดยเป็นการวิจัยพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรกว่า 1,295 โครงการ  

324 ตำรับยาแผนไทยพร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์

ถามว่าแล้วเรามีภูมิปัญญา มีความรู้อะไรบ้าง ล่าสุดในการประชุมเมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาสตราจารย์ชยันต์ พิเชียรสุนทร ราชบัณฑิต ซึ่งท่านได้ทำงานมาตลอดระยะเวลากว่ายี่สิบปีไปเก็บรวบรวมตำรับตำราที่กระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ เช่น ในวัด ในหนังสือ ในหอสมุดแห่งชาติไปค้นมาทั้งหมดได้มากกว่า 58,000 ตำรับแล้วยกขึ้นมาเป็น ตำรับยาแห่งชาติ 324 ตำรับ 

"นี่คือ ขุมทรัพย์ คือ ภูมิปัญญาคนไทยเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนที่เขียนเอาไว้ให้นำไปต่อยอด นำไปเป็นข้อมูลเพื่อทำประโยชน์ต่อไปได้ จึงอยากเชิญชวนภาคเอกชนและผู้ประกอบการที่สนใจมาร่วมงาน มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 21 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-7 ก.ค.นี้ ณ ฮอลล์ 11-12 อิมแพค เมืองทองธานี ในงานนี้เรารวบรวมมาไว้ให้ทั้งหมด" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ปรับโมเดลการทำงาน รุกขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร

สำหรับกรมการแพทย์แผนไทยฯ ในฐานะของเลขาคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติที่มีนายกฯ เป็นประธานโดยได้มอบหมายให้ ท่านรองนายกฯ (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) เข้ามาดูแลเป็นประธานคณะกรรมการฯทำหน้าที่ร้อยเรียงสิ่งต่าง ๆ ข้างต้นทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

ขณะเดียวกันวันนี้เราได้ปรับเปลี่ยนบทบาทตัวเอง ทำหน้าที่ ซัพพอร์ตเตอร์ เป็นโปรโมเตอร์ ทำงานเชิงรุกมากขึ้น เช่นเดียวกับการทำงานของ อย. หลังจากที่ ท่านสมศักดิ์ รมว.สธ.ได้ไปตรวจเยี่ยมเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ให้หลักการไว้ว่า หน้าที่ของ อย.ไม่ใช่ ลิเบอเรเตอร์ อย่างเดียวแล้วแต่ต้องทำหน้าที่เป็น โครครีเอเตอร์ ด้วยซึ่งก็ต้องมาร่วมด้วยช่วยกัน

ดังนั้น จากเดิมเวลาขอขึ้นทะเบียนกับ อย.อาจต้องรอทุกขั้นตอน รอจนกว่าจะจบก่อนจึงจะมาขอขึ้นทะเบียนได้แต่วันนี้สามารถมาได้เลยตั้งแต่เริ่มต้น มานั่งคิดร่วมกัน มาช่วยกันเพื่อจะช่วยย่นระยะเวลา จากเดิมที่อาจต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ โดยกรมมี "กองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ" ที่จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้ได้

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวย้ำว่า ภารกิจครั้งนี้กรมการแพทย์แผนไทยฯ ไม่สามารถเดินเพียงลำพังแต่ต้องอาศัยหลายหน่วยงาน หลายภาคส่วนมาร่วมผนึกกำลังพร้อมขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ก้าวเดินไปด้วยกันเพื่อที่จะบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 


 

เปิดภารกิจ \"หมอทวีศิลป์\" ดันสมุนไพรไทยสู่เวทีโลก