นางสาวทิวาพร ผาสุข รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า คณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลางไปเร่งรัดการเบิกจ่าย ซึ่งมี 10 กระทรวง ที่เบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้สั่งการให้กระทรวงดังกล่าว จัดทำแผนจัดซื้อจัดจ้าง ประมาณการเบิกจ่ายที่จะทำได้ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2567 นี้
ทั้งนี้ ปัจจุบัน 10 กระทรวงดังกล่าวได้ส่งรายงานกลับมาให้กรมแล้ว พบว่า 38 กรมภายใต้สังกัดกระทรวงนั้น มีการเบิกจ่ายที่น่าเป็นห่วง และคาดว่าหากมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายทั้ง 38 กรมแล้ว จะสามารถเบิกจ่ายได้เพียง 65% เท่านั้น ซึ่ง ในการเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 2567 วางเป้าหมายว่า จะต้องไม่น้อยกว่า 75%
อย่างไรก็ดี ประเมินว่าหากรวมกับภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งหมด 20 กระทรวง คาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณจะยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 75% คิดเป็นวงเงิน 5.4 แสนล้านบาท
“รัฐบาลวางเป้าหมาย การเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2567 ไว้ สำหรับรายจ่ายประจำไม่น้อยกว่า 93% ซึ่งขณะนี้ สามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 78% คิดเป็นวงเงิน 2.7 ล้านล้านบาท ส่วนการเบิกจ่ายลงทุน วางเป้าไว้ไม่น้อยกว่า 75% ตอนนี้ทำได้แล้ว 40% คิดเป็นวงเงิน 2.6 แสนล้านบาท ถือว่ามาเกินครึ่งทางแล้ว หากมีการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายฯ ในครั้งถัดไป เราจะเชิญ 38 กรมดังกล่าวมาอธิบายรายละเอียดความคืบหน้าในที่ประชุมด้วย”
ขณะเดียวกัน เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมาย และเพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากที่สุด กรมได้มอบหมายให้คณะทำงานเร่งรัดการเบิกจ่ายลงไปกำกับหน่วยรับงบประมาณที่เบิกจ่ายงบลงทุนต่ำ หรือหน่วยงาน 38 กรมดังกล่าว เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการทุกสัปดาห์ รวมทั้งติดตามปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถเดินหน้าเบิกจ่ายได้
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้คณะทำงานเร่งรัดการเบิกจ่าย ร่วมประชุมกับคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายของกรมต่างๆ ด้วย เพื่อรับทราบปัญหาที่ติดขัด หากมีความต้องการให้กรมบัญชีกลาง หรือสำนักงบประมาณเข้าไปช่วยเหลือ ก็จะสามารถดำเนินการได้เลย ทั้งนี้ รมว.คลัง ยังได้นำปัญหาเรื่องการติดขัดการเบิกจ่ายไปหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจด้วย เพื่อให้รมว. แต่ละกระทรวงช่วยกำกับและติดตามเร่งรัดในเรื่องนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เป็นอุปสรรคสำหรับการเร่งรัดการเบิกจ่ายมาอย่างต่อเนื่อง คือ การอุธรณ์ โดยขณะนี้กรมบัญชีกลางได้ออกหนังสือออกไปย้ำเตือนในสิ่งที่ไม่ต้องส่งเข้ามาขออุทธรณ์ และไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ เนื่องจากบางเรื่องเป็นการอุทธรณ์โดยมิใช่เหตุ ทำให้หน่วยงานต้องสะดุดเพื่อรอผลการอุทธรณ์ ซึ่งเมื่อออกเกณฑ์ดังกล่าวก็ทำให้การเดินหน้าเบิกจ่ายงบลงทุนได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ กรมยังอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายการอุทธรณ์โดยมิใช่เหตุ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการทบทวนเก็บค่าธรรมเนียม เนื่องจากล่าสุด คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความว่า หากจะเก็บเงินในการยื่นอุทธรณ์ เป็นการขัดขวางตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้ ซึ่งกรมอาจจะเปลี่ยนวิธีว่าจะดำเนินการอย่างไร เช่น อาจจะต้องเก็บค่าธรรมเนียมก่อน กรณีที่อุทธรณ์ไม่ผ่าน กรมก็ริบเงินค่าธรรมเนียม ส่วนผู้ที่อุทธรณ์แล้วผ่าน กรมก็จะคืนเงินให้ เป็นต้น