ธนาคารโลกเผยแพร่ “รายงานการตามติดเศรษฐกิจไทย” ฉบับล่าสุด นำเสนอหัวข้อ “การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง” ระบุว่า ศักยภาพ การเติบโตระยะยาวของไทยกำลังชะลอตัวลงจากเผชิญความท้าทายจากประชากรสูงวัย ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมประมาณการอัตราการเติบโตที่มีศักยภาพสำหรับปี 2566-2573 เฉลี่ยประมาณร้อยละ 2.7 ต่อปี ซึ่งตํ่ากว่าทศวรรษก่อนหน้า 0.5 จุด จากการลดลงอย่างต่อเนื่องของการเติบโตของผลิตภาพปัจจัยการผลิตโดยรวม (TFP) แรงงานที่สูงวัยและลดลง ตลอดจน การเปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรไปสู่ภาคที่มีผลิตภาพสูงกว่าที่หยุดชะงัก
“ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญ จำเป็นต้องแก้ไขความท้าทายสำคัญเพื่อฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยกำลังล้าหลังภูมิภาค การเติบโตของ GDP ต่อหัวช้ากว่าคู่แข่งในภูมิภาคอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยประเทศไทยอยู่ในจุดวิกฤตที่มีความท้าทายด้านผลิตภาพและแนวโน้มประชากรที่ไม่เอื้ออำนวย จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงหากคนรุ่นปัจจุบันต้องการทิ้งมรดกแห่งความเจริญรุ่งเรืองไว้”
กรุงเทพฯแบกการเติบโตประเทศ
รายงานธนาคารโลกระบุว่า การกลายเป็นเมืองของไทยมุ่งเน้นไปที่กรุงเทพฯ ทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศที่สุดโต่ง เป็นส่วนเดียวของประเทศที่สามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก แต่กทม.ก็กลายเป็นเมืองที่แออัดมากขึ้นเรื่อยๆ และความไร้ประสิทธิภาพและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความแออัดนั้นกำลังกลายเป็นเรื่องที่ยากจะเอาชนะ
ในแง่ของเศรษฐกิจของประเทศและความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ GDP ของกทม. เมื่อเทียบกับประเทศอื่นพบว่า ขนาด GDPของกทม.ใหญ่กว่าเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองเกือบ 40 เท่า มากกว่าเมื่อเทียบกับกรณีของมาเลเซีย 8 เท่า อินโดนีเซีย 6 เท่า และเวียดนาม 3 เท่า ขณะที่การลงทุนในกทม. มีสัดส่วนที่ไม่สมดุลกับขนาดและนํ้าหนักทางเศรษฐกิจของเมือง ตัวอย่างเช่น ในปี 2563 ประมาณ 60% ของการใช้จ่ายสาธารณะกระจุกตัวอยู่ในกทม. แม้ว่ากทม.จะมีสัดส่วน GDP เพียง 34% ของประเทศ และ 13% ของประชากร
รายงานธนาคารโลกระบุอีกว่า การกระจายการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังหลายเมือง จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากนํ้าท่วมและสภาพอากาศ โดยเฉพาะเมืองรองสามารถเป็นจุดยึดของภูมิภาคใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของ กทม. แสดงสัญญาณของการชะงักงัน เนื่องจากการเติบโตของ GDP มีค่าประมาณเท่ากับการเติบโตของประชากร บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของเมืองเติบโตเต็มที่และอาจอิ่มตัว การปล่อยให้เมืองรองยังคงมีประสิทธิภาพตํ่าก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย
ดังนั้นการยกเลิกข้อจำกัดสำหรับเมืองรอง ควบคู่ไปกับการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม จะช่วยให้เมืองรองสามารถดึงดูดการลงทุนและทักษะเพิ่มผลิตภาพมากขึ้น และช่วยให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากภาวะซบเซาในปัจจุบัน อีกทั้งยังช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรืองในระยาวให้กับประเทศไทย
แนะดัน 5 เมืองใหญ่ขยายเศรษฐกิจ
ธนาคารโลกยกตัวอย่าง เมืองรอง 5 แห่งที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ คือ
1.เชียงใหม่ เป็นที่รู้จักกันดีในระดับนานาชาติ และตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ใกล้กับลาว เมียนมา และจีน และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคเหนือของไทย มีภาคการท่องเที่ยว การเกษตร และโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับ digital nomads ในศตวรรษที่ 21
2.ระยอง ตั้งอยู่ในศูนย์กลางของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญ เป็นที่ตั้งของโรงกลั่นนํ้ามันขนาดใหญ่ การผลิตเคมีภัณฑ์และยานยนต์ นอกจากนี้ยังมีท่าเรือนํ้าลึกขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำคัญของภูมิภาคในการอำนวยความสะดวกกิจกรรมการนำเข้าและส่งออก
3.นครสวรรค์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางการขนส่งและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในภูมิภาค ได้ขยายตัวไปสู่การผลิตและอุตสาหกรรมอื่น ๆ มีศักยภาพในการพัฒนาที่ดี เนื่องจากการเชื่อมโยงด้านการขนส่งและต้นทุนที่ดินและแรงงานที่ค่อนข้างไม่แพง
4.ขอนแก่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เป็นหนึ่งในเมืองที่เติบโตเร็วที่สุดในประเทศไทย มีเศรษฐกิจที่หลากหลาย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเกษตร การผลิต โลจิสติกส์ และการศึกษา
5.ภูเก็ต ทำหน้าที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับการท่องเที่ยว การบริการ และกิจกรรมด้านสุขภาพ และยังดึงดูด digital nomads อีกด้วย มีอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งและเป็นศูนย์กลางการค้าของพื้นที่ผลิตยางที่สำคัญ ท่าเรือของภูเก็ตให้บริการเรือยอร์ชหรูและเรือสำราญ รวมถึงเรือพาณิชย์ขนาดเล็กที่จัดการการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
คลอดสมุดปกขาว-กระจายพัฒนา
ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ความหลากหลายช่วยป้องกันบางส่วนเมื่อภาคส่วนเฉพาะประสบกับการหยุดชะงักหรือสภาวะตลาดเปลี่ยนแปลง ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย รัฐบาลต้องกระจายอำนาจให้เมืองรอง ให้อิสระในการวางแผนและตัดสินใจลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความเป็นอิสระทางการคลัง เพิ่มเครื่องมือสร้างรายได้ท้องถิ่น ด้วยการปรับปรุงระบบภาษีท้องถิ่น เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการท้องถิ่น รวมไปถึงการส่งเสริมการกู้ยืมของเทศบาล ทั้งอนุญาตให้เมืองรองกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาตลาดพันธบัตรเทศบาล
นอกจากนี้ควรจัดทำ White Paper และโครงการนำร่อง ด้วยการพัฒนานโยบายครอบคลุมสำหรับการเงินโครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น ทดลองใช้รูปแบบใหม่ในกลุ่มเมืองรองที่เลือก สร้างระบบสนับสนุน ด้วยการจัดตั้งหน่วยสนับสนุนนโยบายและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จัดตั้งกองทุนพัฒนาโครงการเพื่อสนับสนุนการเตรียมโครงการ ควบคู่กับการส่งเสริมการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาการศึกษาและทักษะแรงงานในเมืองรองปรับปรุงการเชื่อมต่อและโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการพัฒนาระบบขนส่งและการสื่อสารระหว่างเมืองรองและกรุงเทพฯ
จีดีพีไทย 10 ปีโตเฉลี่ย 1.9%
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในปี 2566 เศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยขยายตัวเพียง 1.9% และช่วงไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัว 1.5% และหากย้อนกลับไป 10 ปี ก่อนหน้าปี 2566 จีดีพีไทยขยายตัวเฉลี่ยเพียงปีละ 1.92% ตํ่าสุดในภูมิภาค ที่ส่วนใหญ่ขยายตัวที่ระดับ 5-6% ต่อปี มีปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ขณะที่ปัจจุบันไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงถึง 91% ต่อจีดีพี กดทับกำลังซื้อ และการบริโภค และโครงการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐก็ใช้งบลงทุนไม่มาก ทำให้มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา
ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ปัจจุบันความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง เพราะส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมดั้งเดิม และรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) สินค้าที่ผลิตตลาดเริ่มลดความนิยมในหลายสินค้า ส่วนรถยนต์เครื่องยนต์สัปดาปภายในที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยก็เริ่มไม่ตอบโจทย์ เพราะเทรนด์อนาคตนับจากนี้ผู้บริโภคจะหันไปให้ความนิยมรถยนต์ใช้พลังงานสะอาด เช่น รถ EV มากขึ้น
ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หรือเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีเก่า และยังใช้แรงงานเข้มข้น ทำให้ไทยได้แต่ค่าแรง ต่างจากมาเลเซีย และเวียดนามที่เวลานี้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันแต่เป็นสินค้าที่ไฮเทคกว่า และมีมูลค่ามากกว่า ทำให้ยอดส่งออกสูงกว่าไทย
ลุยปรับโครงสร้างผลิตดัน GDP
เป็นที่มาของส.อ.ท.ที่อยู่ระหว่างการเร่งยกระดับและปรับโครงสร้างภาคการผลิตของไทยให้ตอบโจทย์เทรนด์ของโลก และเพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ โดยอยู่ระหว่างการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของ 46 กลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิก มีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ระบบอัตโนมัติ โรบอติกส์ และระบบดิจิทัลเข้ามาใช้มากขึ้น มุ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) อุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green) เพื่อตอบโจทย์ Climate Change และ Net Zero
“ในส่วนของภาครัฐเราต้องการการสนับสนุนในหลายเรื่องสำคัญ เช่น การทำกฎหมายให้ทันสมัยเอื้อต่อการลงทุน ช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าไฟฟ้า ดอกเบี้ย และอื่น ๆ ซึ่งหากโครงสร้างของเรายังเป็นอุตสาหกรรมเดิม ๆ เหมือนในอดีต เป้าหมายของนายกรัฐมนตรีที่จะผลักดันจีดีพีของไทยให้เติบโตได้ปีละ 5% ก็คงไปไม่ถึง ดังนั้นภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันในการผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เป็นอุตสาห กรรมแห่งอนาคต ตอบโจทย์เทรนด์ของโลกเพื่อให้เป้าหมายเป็นไปได้”
คลังเร่งมาตรการสู่เป้า 3%
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 เหลือโต 2.4% นั้น ใกล้เคียงกับหลายสำนักงานเศรษฐกิจที่ได้ปรับประมาณการไว้ล่วงหน้า ขณะเดียวกัน หน่วยงาน ประมาณการเศรษฐกิจที่อยู่ในประเทศ จะมีความแม่นยำสูง เนื่องจากเห็นสภาวการณ์ต่างๆ ซึ่งในที่สุดก็ปรับมาใกล้เคียงกัน
ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังวางเป้าหมายไว้ให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ เติบโตได้ 3% นั้น ก็จะมีหลายมิติที่ต้องดูแล เช่น การท่องเที่ยว ต้องเพิ่มทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และรายจ่ายต่อหัว รวมทั้งการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการทางภาษีมากระตุ้นเพิ่มเติม และจะมีมาตรการอื่นๆ ทยอยออกมาดูแลเศรษฐกิจ เพิ่มเติมด้วย เช่น การคํ้าประกันสินเชื่อ เป็นต้น
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4008 วันที่ 11 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2567