อุตสาหกรรมก่อสร้างโคม่า 6 พันราย แห่ปิดกิจการ ฉุดเศรษฐกิจวูบ

10 ก.ค. 2567 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2567 | 06:53 น.

ผู้ประกอบการแห่ปิดกิจการ สะเทือนอุตสาหกรรมก่อสร้างวิกฤตหนัก ฉุดเศรษฐกิจวูบ แนะภาครัฐดันมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ฟื้นวงการอุตสาหกรรมฯรอบใหม่ ดึงกำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ห่วงอุตฯก่อสร้าง ซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40

KEY

POINTS

  •  ผู้ประกอบการแห่ปิดกิจการ สะเทือนอุตสาหกรรมก่อสร้างวิกฤตหนัก ฉุดเศรษฐกิจวูบ
  • แนะภาครัฐดันมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ฟื้นวงการอุตสาหกรรมฯรอบใหม่ ดึงกำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น
  • ห่วงอุตฯก่อสร้าง ซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40
     

 ชนวนการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19  และความผันผวนทางเศรษฐกิจส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายปิดกิจการลงจำนวนมาก และหนึ่งในนั้น คือ กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยพบว่าในปี 2566 มีกลุ่มธุรกิจก่อสร้างที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์และปิดกิจการไปแล้วกว่า 1,000 แห่ง

 

และครึ่งแรกปี 2567 ยอดจดทะเบียนยกเลิกกิจการ  6,039 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากบริษัทขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะการชำระเงินชดเชยค่างานก่อสร้าง (ค่าเค) ของภาครัฐที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร และไม่มีความชัดเจนจากภาครัฐ 

 

ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังพบว่าภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างยังได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงซ้ำอีกระลอก ส่งผลให้เอกชนหลายรายมีความกังวลเป็นอย่างมากว่าอุตสาหกรรมวงการนี้ไม่น่าจะไปรอดได้ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่มีงานในมือร่วมกับภาครัฐที่ลงนามสัญญาไปแล้ว กลับไม่สามารถปรับต้นทุนค่าก่อสร้างให้สอดรับตามค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นได้

 

 ฟากนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้รับเหมาเอกชนบางรายติดปัญหาการเบิกจ่ายค่างานไม่ครบตรงตามงวด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะเรื่องนี้เป็นสัญญาระหว่างเอกชนที่ทำข้อตกลงร่วมกัน ทำให้ภาครัฐไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ หากไม่มีการชำระค่างานตามที่ตกลงกันอาจนำมาสู่การฟ้องร้องได้

 

 ย้อนไปก่อนหน้านี้ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างฯ เคยมีการหารือร่วมกับภาครัฐมาโดยตลอด ซึ่งการหารือในครั้งนี้จะร่วมกับหอการค้าไทยและสมาคมอสังหาริมทรัพย์ฯ โดยภาครัฐต้องหาแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการขายอสังหาริม-ทรัพย์มากขึ้น หากเอกชนสามารถขายอสังหาริมทรัพย์ได้จะทำให้มีเงินมาชำระค่างานที่ค้างแก่ผู้รับเหมาต่อไป
 

 แต่ปัจจุบันกลับพบว่ากำลังซื้อของคนภายในประเทศไม่มี อีกทั้งสถาบันทางการเงินไม่มีการปล่อยกู้แก่ผู้ซื้อและผู้รับเหมา ทำให้ได้รับผลกระทบต่อหลายขั้น ขณะที่มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า (ซอฟต์โลน) ซึ่งเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยผู้ประกอบการ SME ในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างนั้น

 

 ตามปกติสถาบันทางการเงินจะพิจารณาการปล่อยกู้แก่ผู้รับเหมารายกลางหรือรายเล็ก ต่อเมื่อมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ เนื่องจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีความเสี่ยงด้านธุรกิจสูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำให้ปัญหาของผู้รับเหมาเหล่านี้ คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐต้องหาทางช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้น ตลอดจนผู้คนภายในประเทศมีกำลังซื้อมากขึ้น

 

 ที่ผ่านมาสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างฯ เคยเสนอภาครัฐดำเนินมาตรการกระตุ้มภาคอสังหาริมทรัพย์  ซึ่งเป็นมาตรการในกรณีที่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเมื่อมีการชำระเงินจะผ่านเข้าระบบบัญชีกลาง โดยที่ไม่ได้ต้องผ่านสถาบันทางการเงินหรือ Developer โดยตรง

 

 หาก Developer หรือสถาบันทางการเงินไม่มีการชำระค่างานแก่ผู้รับเหมาสามารถนำเงินจากระบบบัญชีกลางมาชำระแก่ผู้รับเหมาได้ ส่งผลให้ผู้รับเหมาสามารถดำเนินการให้งานต่างๆมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อได้ ขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับมากนักจากภาครัฐ โดยเฉพาะ Developer หรือสถาบันทางการเงินไม่เห็นด้วย เพราะอาจจะทำให้เสียผลประโยชน์ได้
 

ส่วนกรณีที่บทเรียนลอยตัวค่าเงินบาทจนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 มีแนวโน้มที่ส่งผลกระทบซ้ำรอยเดิมในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างนั้น ปัจจุบันพบว่าสถานการณ์ด้านการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนมีสถานะซึมระยะยาว หลังจากที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

อุตสาหกรรมก่อสร้างโคม่า 6 พันราย แห่ปิดกิจการ ฉุดเศรษฐกิจวูบ

 ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการไม่ได้มีการปิดกิจการทันทีเหมือนในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 แต่จะเห็นว่าผู้ประกอบการหลายรายๆเข้าสู่แผนฟื้นฟูและทยอยปิดกิจการลง ขณะที่วิฤตฯในปี 2540 ได้รับผลกระทบทุกภาคส่วนที่เกิดขึ้นทันที ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่มองว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก หากดูตามความเป็นจริงจะพบว่าสถานการณ์ทั้ง 2 ไม่ได้มีความแตกต่างกัน

 

 ไม่เพียงเท่านั้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังมีผู้รับเหมาก่อสร้างหลายรายไม่ได้รับเงินชดเชยจากนโยบายภาครัฐที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการจ่ายค่าปรับเป็น 0 เนื่องจากภาครัฐมีการออกนโยบายดังกล่าวมาทีหลัง  ซึ่งในความเป็นจริงเรื่องนี้ภาครัฐควรชำระเงินคืนให้แก่ผู้รับเหมาเหล่านี้ เพราะเป็นสิทธิ์ที่เขาควรได้รับ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่มีความตั้งใจทำงาน เมื่อมีปัญหาจากโควิด-19 ส่งผลให้งานเกิดความล่าช้าจนถูกปรับค่างาน แต่ยังส่งงานได้ครบตามกำหนด


 
หากท้ายที่สุดแล้วภาครัฐยังเมินเฉยและไม่สามารถแก้ปัญหาช่วยผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างฟื้นกลับมาคงที่ได้ตามปกติคงไม่ต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 โดยเฉพาะโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยให้ไปต่อได้