“พิชัย” รมว.คลัง สั่งเพิกถอนใบอนุญาต “สินมั่นคงประกันภัย” มีผลตั้งแต่ 4 ก.ค.

10 ก.ค. 2567 | 11:33 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2567 | 11:34 น.

รมว.คลัง มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีผลตั้งแต่ 4 ก.ค. พร้อมแต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีคำสั่งที่ 1364/2567 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป 

และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มีคำสั่งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยที่ 19/2567 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 แต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชี บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) 

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตลอดจนการเตรียมมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ เนื่องจากปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีฐานะและการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน 

ดังปรากฏข้อเท็จจริง ตามที่นายทะเบียนได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 36/2565 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) “บริษัท” แก้ไขฐานะและการดำเนินการตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 โดยกำหนดให้บริษัทเพิ่มทุนและแก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพันและให้มีอัตราส่วนของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 1 ปี  

อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ดำเนินการเพิ่มทุนและแก้ไขฐานะการเงินให้เป็นไปตามคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว แต่กลับอาศัยกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความทุกฝ่ายทราบผลคำสั่งตามกฎหมายแล้ว 

อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สิน จึงกลับไปเป็นของผู้บริหารของบริษัท และผู้ถือหุ้นของบริษัท ทำให้บริษัทสามารถเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทได้ ประกอบกับบริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด บริษัทจึงมีฐานะและการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน 

“คณะกรรมการ คปภ. จึงเห็นชอบให้นายทะเบียนใช้อำนาจตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สั่งให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว”

ทั้งนี้ ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 48/2566 เรื่อง ให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2566

นอกจากนี้ ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน จัดสรรเงินสำรองตามมาตรา 23 ไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามมาตรา 27/4 ไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด 

มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด 

“แสดงให้เห็นว่า บริษัทมีฐานะการเงินไม่มั่นคงและไม่เพียงพอต่อภาระผูกพัน รวมถึงบริษัทไม่มีแนวทางในการแก้ไขฐานะการเงิน มีประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันทำให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชนได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหลายประการ บริษัทไม่มีความสามารถและความพร้อมที่จะรับประกันภัยและประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยได้ต่อไป”

ทั้งนี้ หากให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัย ตลอดจนความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป 

เนื่องจาก การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นปัญหาฐานะการเงินและการจัดการภายในของบริษัทจึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือสภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น หรือธุรกิจประกันภัยในภาพรวมแต่อย่างใด ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับมิให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบแล้ว 

ทั้งนี้ ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท และเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ภายใน 60 วันนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยประกาศกำหนด โดยการยื่นจะดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น 

ขณะเดียวกัน กองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชี จะประกาศแจ้งให้ทราบถึงกำหนดวัน เวลา และวิธีการยื่นคำทวงหนี้อีกครั้ง เพื่อให้บรรดาเจ้าหนี้ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 61/3 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

ดังนั้น จึงขอให้บรรดาเจ้าหนี้ของบริษัทโปรดติดตามประกาศของกองทุนประกันวินาศภัยอย่างใกล้ชิด ได้ที่เว็บไซต์กองทุนประกันวินาศภัย www.gif.or.th และ Facebook Fanpage “กองทุนประกันวินาศภัย” 

“การจัดตั้งกองทุนประกันวินาศภัยขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยเจ้าหนี้ฯ มีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัยจากกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนที่ได้รับการเฉลี่ยจากหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองที่วางไว้กับนายทะเบียนแล้ว ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท”