นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า ภายหลังศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยชี้ขาดในคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ระหว่างบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด บริษัท อาร์ แอนด์ เอ คอมเมอร์เชียล วิฮีเคิลส์ เอสดีเอ็น บีเอชดี, บริษัทรถยนต์เซินหลง (เซี่ยงไฮ้) จำกัด และบริษัทเทคโนโลยีพลังงานใหม่เป่ยฟังกวางโจว จำกัด ผู้ฟ้องคดี 1 ถึง 4 กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ผู้ถูกฟ้องคดี
เนื่องจากบอกเลิกสัญญาจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์โดยสารปรับอากาศเอ็นจีวี และบำรุงรักษา ยี่ห้อ SUNLONG จำนวน 489 คัน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนี้ขสมก.จะเดินหน้าบังคับคดีตามคำสั่งศาลต่อไป
โดยเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2561 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ ขสมก.ชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด และพวกอีก 3 บริษัท เนื่องจากบอกเลิกสัญญาจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์โดยสารปรับอากาศเอ็นจีวี และบำรุงรักษาจำนวน 489 คัน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเงิน 1,159,969,552.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น 1,147,831,350.06 บาท
นับถัดจากวันที่ 7 มิ.ย. 60 ซึ่งเป็นวันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ ขสมก.ส่งมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 30 ก.ย. 59 จำนวน 547,427.71 บาท คืนแก่บริษัท เบสท์รินฯ กับพวก ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้เป็นเงินตามจำนวนหนังสือค้ำประกันดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ขสมก.ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยได้วินิจฉัยใน 2 ประเด็น คือ 1. การบอกเลิกสัญญาของ ขสมก.เป็นไปโดยชอบตามสัญญาหรือไม่ 2. ขสมก.มีสิทธิ์เรียกค่าปรับและค่าเสียหายจากกลุ่มเบสท์รินตามสัญญาหรือไม่
ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นให้ยกฟ้องผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ และให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวน 520,570,578.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 514,962,426.05 บาท
นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
ซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 514,962,426.05 บาท นับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ถูกฟ้องคดี โดยให้ดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นศาลปกครองชั้นต้น และชั้นอุทธรณ์บางส่วนตามส่วนของการชนะคดีแก่ผู้ถูกฟ้องคดีคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ศาลระบุถึงประเด็นการบอกเลิกสัญญาว่า การที่ ขสมก.มีหนังสือที่ ขสมก. 638 / 2560 ลงวันที่ 12 เมษายน 2560 บอกเลิกสัญญาซื้อขายและการซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) สัญญา เลขที่ ร. 50/ 2559 ลงวันที่ 30 กันยายน 2559
เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ไม่ส่งมอบรถยนต์โดยสารจำนวน 489 คันพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้แก่ ขสมก.ได้ถูกต้องครบถ้วน ทำให้ ขสมก.ไม่อาจรับมอบรถโดยสารทั้งหมดได้ และ ขสมก.ไม่ต้องชดใช้ค่ารถยนต์โดยสารและค่าเสียหายแต่อย่างใด ถือว่าคำอุทธรณ์ของ ขสมก.ฟังขึ้น
ขสมก.มีสิทธิ์เรียกค่าปรับและค่าเสียหายจากผู้ฟ้องได้หรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า ขสมก.บอกเลิกสัญญาซื้อขายและจ้างซ่อมแซมรถ NGV เป็นไปโดยชอบตามข้อ 21.1 ของสัญญาพิพาท เนื่องจากผู้ฟ้องผิดสัญญาโดยไม่ส่งมอบรถให้ครบถ้วนถูกต้อง ศาลปครองสูงสุดไม่เห็นพ้องกับศาลปกครองชั้นต้น
สืบเนื่องมาจากรถ NGV 489 คัน เลี่ยงภาษีนำเข้า เกิดขึ้นเมื่อปี 2559 หลังจาก ขสมก.ประกวดราคาจัดซื้อรถยนต์โดยสารปรับอากาศเอ็นจีวี และบำรุงรักษา จำนวน 489 คัน โดยบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ชนะประมูล โดยยื่นเอกสารแจ้ง ขสมก.ส่งมอบรถยี่ห้อ SUNLONG รุ่น SLK6129CNG เป็นรถที่ผลิตที่จีน ประกอบที่มาเลเซีย โดยมีการนำรถเข้ามาในประเทศไทยในช่วงปลายปี 2559
โดยรถชุดแรกที่นำเข้ามาจำนวน 99 คัน ถูกกรมศุลกากรกักไว้ เนื่องจากพบว่ามีการสำแดงแหล่งที่มาเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีนำเข้า ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามข้อตกลงสนธิสัญญาเขตการค้าเสรีกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (From D) แต่เป็นการนำเข้าสำเร็จรูปจากประเทศจีน
ผ่านประเทศมาเลเซียและเข้าสู่ไทยจึงไม่สามารถออกจากท่าเรือได้ ส่วนรถชุดที่เข้ามาทีหลัง 390 คัน ทางผู้นำเข้าได้สำแดงแหล่งที่มาเท็จ แต่ยอมชำระภาษี กรมศุลกากรจึงปล่อยรถเข้ามาได้
ทำให้ส่งมอบรถให้ ขสมก.จำนวน 390 คัน จากจำนวน 489 คัน (เนื่องจากรถล็อตแรกถูกกักไว้ที่ท่าเรือ) ต่อมา ขสมก.อ้างหนังสือจากสำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งว่า ให้รอกรมศุลกากรพิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้าก่อน รวมทั้งอ้างว่าส่งมอบรถไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา จึงบอกเลิกสัญญา พร้อมกับริบหลักประกันสัญญาและเรียกค่าปรับ
และค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่บริษัททำผิดสัญญา ทำให้กลุ่มเบสท์รินฯ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อปี 2560 เรียกค่าเสียหายจากการที่ ขสมก.ไม่ยอมรับมอบรถ และศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ ขสมก. ชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป และพวก เป็นเงิน 1,159,969,552.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น 1,147,831,350.06 บาท