วิกฤตแรงงานไทยถึงจุดต่ำสุด แผนเขียนไว้สวย แต่ไม่ทำตามแผน

16 ก.ค. 2567 | 00:00 น.
อัพเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2567 | 02:58 น.

“ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์” ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน แห่งทีดีอาร์ไอ ชำแหละ "อนาคตแรงงานไทย" ถึงจุดต่ำสุด ชี้ ทางรอด มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง เปิดจุดด้อย เปลี่ยนหัวเรือบ่อย - แผนพัฒน์ฯเขียนไว้สวย แต่ไม่ทำตามแผน

KEY

POINTS

  • “ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์” ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน แห่่งทีดีอาร์ไอ ชำแหละ "อนาคตแรงงานไทย" ถึงจุดต่ำสุด
  • ชี้ ทางรอด มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง - ยกระดับ digital literacy  
  • เปิด จุดด้อย ฝ่ายนโยบาย เปลี่ยนหัวเรือบ่อย - แผนพัฒน์ฯเขียนไว้สวย แต่ไม่ทำตามแผน 

โครงสร้างประชากรของประเทศไทยเข้าขั้น "โคม่า" ซ้ำเติมด้วยวิกฤตการเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” ส่งผลให้สมรรถนะของแรงงานไทยอยู่ในสภาพกลับไม่ได้ไปไม่ถึง เพราะไม่ได้รับการยกเครื่อง-ยกระดับฝีมือแรงงานให้ทันกับโลกที่หมุนเร็ว

ตั้งแต่ยุคโชติช่วงชัชวาล-อีสเทิร์นซีบอร์ด แรงงานไทยปรับตัวได้ไม่ยาก เพราะปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมที่คุ้นเคย 

ทว่า และการเข้าสู่ “อุตสาหกรรมใหม่” ภายใต้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” ผสมโรงกับการดิสรัปต์ของดิจิทัลและเทคโนโลยี AI  ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยจน "ปรับตัวไม่ทัน"

ในช่วงรอยต่อ-เปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาป สู่ยานยนต์แห่งอนาคต-รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่รัฐบาลใช้เป็น "ตัวชูโรง" การดึงดูดการลงทุน กลายเป็นตัวเร่ง-โดมิโนตัวแรกที่ปฏิวัติแรงงานไทยแบบดั่งเดิมให้ล้มหายตายจาก 

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์” ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เพื่อฉายภาพ “อนาคตแรงงานไทย” ถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง  

ถ้าไทยจะมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองต้องทำอย่างไร ?

ผลพวงของประเทศไทย คือ ไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง เราเร่งอีวีเข้ามาเร็ว ในที่สุดสิ่งที่เราได้รับการถ่ายทอดก็เหมือนเดิม แค่แรงงานระดับกลางและระดับล่างเท่านั้น

เทคโนโลยีเป็นตัวเดียวที่จะเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) แรงงานได้ การจะสร้างมูลค่าเพิ่มในสาขาใหญ่ ๆ ของไทย โดยเฉพาะที่มีเทคโนโลยีสูงในภาค real sector  คือ ภาคอุตสาหกรรม 

“ถ้าเราเป็นเจ้าของเทคโนโลยีจะทำให้ไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง” 

เราคงไม่สามารถกลับไปใช้โมเดลของไต้หวันได้ คือ เริ่มตั้งแต่ทำต้นแบบ แต่ที่ทำได้เร็วอย่างของจีน หรือ เรียกว่า “จีนโมเดล” คือ เป็นลักษณะของการ “ตัดส่วนล่าง” ส่วนที่เป็นต้นแบบทดลอง  

“พูดง่าย ๆ คือ ใช้วิธีก๊อปปี้แล้วก็ทำเลย ทำไปผิด ๆ ถูก ๆ ให้ประชาชน และรัฐอุดหนุนราคาให้ต่ำ เพื่อให้คนเอาไปใช้ ทดลองผิด ทดลองถูกกันไป”

จีนจึงเปลี่ยนแปลงได้เร็ว โดยการตัดส่วนล่าง เป็นลักษณะ “U-Shaped” ในการพัฒนาเทคโนโลยี ด้านซ้ายมือคือการผลิต ตั้งแต่องค์ความรู้ มาร่างต้นแบบ ขยายไปสู่การผลิตเชิงการค้าเพื่อพาณิชย์ ด้านขวา คือ การทำตลาด การจำหน่าย 

“ด้านขวาในส่วนของหาง U-Curve แทบจะไม่ได้เป็นของเรา และทำตลาดโดยบริษัทต่างชาติทั้งหมด เมื่อไหร่ก็ตามที่คนอื่นมีวิกฤต เหมือนที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้ เราเป็นผู้ถูกกระทำ เราก็ยิ่งมีปัญหาหนักเข้าไปอีก เพราะตัวแม่ที่ทำตลาด ทำตลาดไม่ได้ 

ขณะเดียวกันญี่ปุ่นขณะนี้ก็ประคองตัว เพื่อที่จะให้อยู่ได้ในตลาดแข่งขันระดับโลก ตอนนี้จีนน่ากลัวมาก เพราะสามารถที่จะเพิ่มและทำอะไรได้รวดเร็ว คิดจะทำก็ทำเลย แล้วแบ่งเกรด ของดีเอามาขาย ของไม่ดีก็ใช้ในประเทศตัวเอง มีตลาดรองรับพอ

“การลองผิดลองถูกของเราทำไม่ได้ เพราะตลาดเราเล็ก พอพลาดแล้วพลาดเลย”

จริง ๆ บ้านเรามีทางออกที่ทำอยู่ตอนนี้ คือ เปลี่ยนรถเก่า 3 ล้านคันเป็นรถไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้มีนโยบายของเอกชน ร่วมกับนักวิชาการ วิทยาลัยเทคนิคทั่วประเทศร่วมมือกันทำเรื่องนี้ 

ในการที่จะทำให้แรงงานไทย โดยเฉพาะคนเก่าที่ยังไม่มีงานทำ หรือ คนที่ตกจากระบบชิ้นส่วนต่าง ๆ สามารถปรับตัวไปถอดเอาเครื่องยนต์สันดาปออกเอามอเตอร์ใส่แทนเข้าไปแล้วก็มีแบตเตอรี่ที่พัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้น จนกลายเป็นรถอีวีต้นแบบ 

โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อลดขยะ ทำรถเก่าให้มีมูลค่าเพิ่มและจ้างงาน รวมถึงยืดอายุอะไหล่ชิ้นส่วนเดิมและชะลอเรื่องที่เราไม่มีฐานเทคโนโลยีสูงนัก 

“เราก็ใช้เทคโนโลยีระดับกลาง แบตเตอรี่ระดับกลาง ๆ ไม่ต้องไปซื้อลิเทียมราคาแพง จนกลายเป็นรถอีวีหลักหมื่นถึงแสนกว่าบาท หรือจักรยานยนต์คันละ 5,000-6,000 บาท ซึ่งเป็นทางออกที่สายอาชีวะศึกษาคิดและเริ่มไปแล้ว”

ไทยไม่เหมาะที่จะลองผิดลองถูกแบบจีน แล้วจะต้องยึดโมเดลและเป็นต้นแบบ ?

ต้องเร่งทำแบตเตอรี่ที่ยังคาราคาซังอยู่ เราต้องยอมเสีย venture capital กับบางเรื่องที่เป็นเป้าหมายของประเทศ ถ้าเราต้องการที่จะมีความรู้ในเรื่องของการมีแบตเตอรี่ของเราเอง 

ถ้าเราสามารถทำเซลล์ที่อยู่ภายในได้ด้วยเทคโนโลยีของเราเอง เราก็จะมีแรงงานที่ทำเรื่องพวกนี้ได้ คือ ซ่อมแบตเตอรี่เก่า ซ่อมแบตเตอรี่ไฟฟ้า ระบบลิเทียมเก่า เราต้องทำให้ได้ ไม่ต้องนำเข้าเข้ามา 

จะเป็นการร่วมทุนกับบริษัทต่างประเทศ เพื่อให้ได้เทคโนโลยีมาก่อน อันไหนที่เราเปลี่ยนไม่ได้ ทำไม่ได้ ก็นำมาใช้ในบ้านเรา เปลี่ยนหลังคาเป็นโซลาเซลล์ เก็บโดยแบตเตอรี่เก่าของรถยนต์ 

“เราต้องผันตัวเองเข้าไปให้ได้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาเป็นของตัวเราเองบ้าง จะเป็นกิจการร่วมค้า (Joint venture) หรือ ทำของเราเอง เช่น อีอีซี เราต้องทุ่ม ต้องยอมจ่าย ตั้งกองทุนวิจัยขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันเอกชนลงทุนเองทั้งนั้น”

ทำไมบริษัทต่างชาติถึงเลือกไปลงทุนที่มาเลเซียหรือเวียดนาม ไม่ใช่ไทย ?

เพราะเทคโนโลยี ความสามารถในเรื่องดิจิทัล (Digital literacy) ฝึกทักษะคน แต่ของไทยยกตัวอย่างเช่น อีอีซี เราวางแผนจะเทรนคน 5 แสนกว่าคน แต่ปัญหา คือ อุตสาหกรรมไม่มา พอเราเทรนคนไปแล้ว คนคอยงานไม่ได้ มันก็เสียของ 

มูลนิธิเสนาะ อูนากูล กำลังเข้าไปดูกำลังคนของอีอีซีใน 11 อุตสาหกรรม เพื่อดูว่า เราต้องการคนจำนวนเท่าไหร่ วางโรดแมปของแต่ละอุตสาหกรรมอย่างไร เพื่อดูตำแหน่งงานและสมรรถนะในตำแหน่งงานและปรับตัวเลขพยากรณ์เดิมของกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาในประเทศไทย 

“Huawei จะมาไหม เราจะบาลานซ์ geopolitics ระหว่างจีน สหรัฐฯและตะวันตกอย่างไร ไม่ให้เป็นเป้าถูกโจมตี”

ไทยก็เทรนคนในอีอีซี แต่ทำไมยังไม่มาลงทุน?

“มันไก่กับไข่ เราจะเทรนคน แต่ถามว่า คนเราจะเอาไปไว้ที่ไหน เพราะฉะนั้นเราต้องการันตีว่า คนที่ฝึกงานไปแล้ว มีงานทำ”

โรดแมปเราต้องรู้ตัวเลขจริงที่จะเข้าไป บีโอไอที่บอกว่าจะมาลงทุนเป็นแสนล้าน เมื่อไหร่จะขอใบอนุญาตก่อสร้าง เมื่อไหร่จะขออนุญาตเปิดโรงงาน เพราะเมื่อขออนุญาตสร้างเราจะรู้ดีมานด์ รู้ประเภทเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่จะใช้ เราสามารถที่จะประมาณคนที่ต้องการได้ 

วิทยาลัยที่เคยช่วยสมัยอีสเทิร์นซีบอร์ดมา มีประสบการณ์มา 30 ปี รองรับการปรับวิธีการเรียนการสอน การฝึกงานให้รับกับอุตสาหกรรมที่จะเข้ามา เขาขอเรื่อง digital literacy และภาษาอังกฤษ 

เรามาถึงจุดที่แรงงานไทยไม่ได้รับการปรับตัวเลยได้อย่างไร ?

ปรับตัวช้ามาก เพราะเรื่องเจเนอเรชั่นส่วนหนึ่ง และปัญหาของเรา คือ ไม่พัฒนา คนของเราส่วนใหญ่ หรือ ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมด ไม่มีสาขาเกษตรที่ใหญ่ขนาดนี้ จีดีพีไม่ถึง 5 % ของมูลค่าเพิ่ม ของไทย 10 % แต่ใช้คน 36 % เสียของมาก 

ขณะที่ประเทศที่มีพัฒนาแล้วมีสาขาเกษตร 5 % ใช้คน 5 % แล้วนำเงินในส่วน 95 % เอาภาษีไปอุดหนุนอุตสาหกรรมในกลุ่ม 5 % ได้ จ้างงานก็สูง ซื้อของได้ราคาแพง แต่เราทำไม่ได้  ใหญ่เกินไป ใครจะอุดหนุนราคาข้าวที่ผลิตออกมา 20-30 ล้านตัน 

“เราไม่ได้มุ่งเป้าไปอย่างจริงจัง แผนเขียนไว้สวย แต่ไม่ได้ทำตามแผน”

ปัญหาแรงงานของไทยถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง ? 

ก็ประมาณนั้น 

“เรื่องคนเราพูดกันมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 จนป่านนี้ คนไม่ได้ทำตามแผน เรื่องคนทำให้เราโดนปฏิเสธ ไม่มาลงทุน” 

ถอยหลังกลับไปเหมือน 20 ปีที่แล้ว บริษัทดัง ๆ เช่น พานาโซนิค เขาคิดว่าจะอยู่ประเทศไทยหรือไปที่เขตเศรษฐกิจใหม่ที่มาเลเซีย ในที่สุดเขาก็เลือกไปมาเลเซีย เพราะเขาบอกว่าทักษาทางด้านคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษเราไม่ดี 

เมื่อเวียดนามกำลังขึ้นมา Huawei หรือบริษัทใหญ่ ๆ ของอเมริกัน เขาบวกลบคูณหาร นอกเหนือจากประชากรที่มีเป็นร้อยล้านแล้ว กำลังแรงงาน 60-70 ล้านคน และเด็กที่นั่นเรียนรู้ digital literacy ดีกว่าเรา 

“อยู่กับแรงงานมา ผมก็เศร้าใจพอสมควร เพราะไม่สำเร็จ ผมก็รู้สึกว่าล้มเหลวไปด้วย เราก็พยายามจะผลักดัน ก็ได้มาระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้อย่างที่ใจเราคิด”

ปรับตัวตอนนี้ยังทันหรือไม่ ?

เหลืออยู่อย่างเดียว เรารู้ว่า Gen-C ของเรา เสียของไปเยอะ ตกระบบ ฟุ้งเฟ้อไปกับเรื่องศิลปวัฒนธรรมอะไรก็แล้วแต่ ฉาบฉวย ไม่ใช่พื้นฐานจริง ๆ ที่จะทำให้ผลผลิตของประเทศเพิ่มขึ้นมาได้ 

เราจะเอา soft power เอาแบบเกาหลี ต้องทำต่อเนื่องและจริงจัง เรามีวัฒนธรรมที่ปู่ย่าตายายทำไว้ ทะเลสวย เราก็ “หากินกับของเก่า” เกษตรโชคดีที่คนอื่นหยุดขาย เราก็ส่งได้ พอคนอื่นขาย เราก็ขายไม่ได้อีก ราคาข้าวก็ต่ำ ต้องพึ่งเทวดาหมดเลย 

ยังไม่สายที่จะปรับตัว? 

ไม่สาย ขึ้นอยู่กับนโยบายและโครงสร้างที่มุ่งมั่น ทำจริง เอาจริง แต่ของเรามีจุดด้อย คือ “หัวเรือเราเปลี่ยนบ่อย” มาถึงก็จะสร้างแต่ผลงาน กลายเป็นการเมือง 

“บาลานซ์ระว่างการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไปเป็นเรื่องการเมืองเกินไป เศรษฐกิจเลยเป็นเรื่องรอง เอาเศรษฐกิจมาเป็นตัวอ้าง เพื่อที่จะให้การเมืองอยู่ ผลที่เกิดขึ้นก็ไม่ยืดยาว ถ้ามองว่าเป็นยุคดิจิทัล ต้องทุ่มเทมาที่เทคโนโลยี เริ่มตั้งแต่เด็ก”

มีโมเดลที่เคยพูดกันว่า ดึงหัวกะทิจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อโค้ชชิ่งคนไทยมันเวิร์กหรือไม่ ?

ไม่เวิร์ก ทุกวันนี้ ทีดีอาร์ไอ เราไปคุ้ยมาทั่วโลก เพื่อมาเป็นนักวิจัยของเรา มาถึงจุดหนึ่งก็ไป (สมองไหล) เพราะเรื่องค่าตอบแทน 

คนเก่ง ๆ ของเราที่จบจากต่างประเทศ ถูกจ้างจากบริษัทข้ามชาติรอบ ๆ ประเทศไทย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย รอบ ๆ เป็นบริษัทข้ามชาติที่คนไทยเราทำ ที่เก่ง ๆ เลาะอยู่ข้างรั้วเราไม่กลับมา

“ถ้าเราเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เราจ่ายเท่าไหร่ก็ได้ แต่คนต้องมีสมรรถนะ คุ้มค่าพอกับเงินที่จ่าย เราเรียกว่าสมรรถนะ ถ้าจะจ่ายก็ต้องจ่ายตามสมรรถนะ แต่จะจ่ายสูงได้ประเทศต้องพัฒนา หมายถึงทุกสาขาของการผลิตในประเทศเติบโตต่อเนื่อง”