เปิดเงื่อนไข ธ.ก.ส. "โครงการเงินดิจิทัล" ก่อนกระทรวงการคลังปัดตก

16 ก.ค. 2567 | 00:20 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2567 | 01:15 น.

เปิดหนังสือ ธ.ก.ส. สอบถามเพิ่มเติม ยืมเงินโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท วาง 2 แนวทาง จัดหาแหล่งเงินรองรับ-ออกพันธบัตร ก่อนกระทรวงการคลัง ปัดตก

สืบเนื่องจากกรณี “อาจารย์วีระ” วีระ ธีระภัทรานนท์ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 สภาผู้แทนราษฎร สัดส่วนพรรคก้าวไกล ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อดำเนินโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท วงเงิน 1.723 แสนล้านบาท

สำหรับเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคน ซึ่งขณะนั้น ธ.ก.ส.อยู่ระหว่างทำหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงการคลัง 

อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่มีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานได้มีมติเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินและที่มาแหล่งของเงินในส่วนของ ธ.ก.ส.

โดยจะไม่ใช้เงินธ.ก.ส. แต่เปลี่ยนเป็นการบริหารจัดการเงินงบประมาณปี 67 และ ปี 68 แทน 

สำหรับหนังสือของ ธ.ก.ส.ที่สอบถามไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมและพิจารณาแนวทางดำเนินโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ดังนี้

  • การจัดทำแผนบริหารจัดการโครงการ ประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ ประมาณการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับ ตลอดจนการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องนั้น ธ.ก.ส.จะต้องดำเนินการอะไรอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินโครงการ ไม่ทำให้สิ่งที่เตรียมการในคณะทำงานชุดต่าง ๆ และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ต้องได้รับผลกระทบ กระทรวงการคลังควรเร่งรัดดำเนินการหารือข้อกฎหมายไปยังสำนักงานกฤษฎีกาโดยเร็ว เพื่อให้ได้ข้อยุติในส่วนนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับการดำเนินโครงการเป็นอย่างยิ่ง 

  • ในการดำเนินโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะต้องมีการจัดทำโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เสนอครม.พิจารณา โดยมีส่วนงานที่เป็นเจ้าของโครงการเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งความสัมพันธ์ทางกฎหมายอาจเรียกว่า “เป็นตัวการ” เนื่องจากการดำเนินโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ธ.ก.ส.เป็นเพียง “ตัวแทน” ตาม พระราชบัญญัติ ธ.ก.ส. มาตรา 10 (11) ธ.ก.ส.จึงไม่สามารถดำเนินการในฐานะตัวการได้ 

ประกอบกับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แตกต่างกับโครงการที่ผ่านมาที่แหล่งเงินทุนมาจาก ธ.ก.ส. แต่โครงการนี้แหล่งเงินที่มาจาก ธ.ก.ส.เป็น 1 ใน 3 ของแหล่งเงินทุน

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างถูกต้องควรให้ส่วนงานที่เป็นเจ้าของโครงการเป็นผู้จัดทำโครงการแล้วเสนอให้ครม.พิจารณา เมื่อครม.มีมติเห็นชอบแล้ว ธ.ก.ส.จะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้กฎหมายต่อไป

  • การจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรโดยประมาณ 17 ล้านคน มีลูกค้า ธ.ก.ส.โดยประมาณ 4 ล้านคน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และความถูกต้องในการดำเนินโครงการสมควรให้หน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียนและมีข้อมูลเกษตรกรมีการตรวจสอบแล้วรับรองความถูกต้องก่อนส่งให้ ธ.ก.ส.ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังได้ตอบข้อสังเกต “อาจารย์วีระ” ถึงรูปแบบการจัดทำ scenario ในการจัดหาแหล่งเงินทุน ว่า ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ธ.ก.ส.มีสภาพคล่องเพียงพอรองรับ "การดำเนินงานปกติ" โดยมีสภาพคล่องส่วนเกินคงเหลือจากการดำเนินงาน 18,109 ล้านบาท

หากต้องดำเนินโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ธ.ก.ส.คาดการณ์การจัดหาแหล่งเงินทุน 2 แนวทาง  คือ 

  • การออกพันธบัตรโดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหาและค้ำประกัน รัฐบาลรับภาระชำระคืนต้นเงิน ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายจากการกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการ 
  • การออกพันธบัตรโดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหาให้แก่ ธ.ก.ส. (ไม่มีการค้ำประกัน) รัฐบาลรับภาระชำระคืนต้นเงิน ต้นทุนเงิน และค่าใช้จ่ายจากการกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการ