ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ร่อนหนังสือเตือน นายกฯ กลางวงบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต

15 ก.ค. 2567 | 09:53 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2567 | 10:11 น.

เบื้องลึกบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต ไร้เงา ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” แต่ทำหนังสือถึงนายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” ในฐานะประธานบอร์ดแทน เตือนรัฐบาลดันโครงการให้รอบคอบ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ บอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ต ชุดใหญ่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันนี้ (15 กรกฎาคม 2567) ได้หารือถึงรายละเอียดการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท หลายคนจับตาว่า นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้าร่วมประชุมครั้งนี้หรือไม่ หลังจากได้แสดงความเห็นถึงการขับเคลื่อนโครงการของรัฐบาลในหลายประเด็น

จนท้ายที่สุด มีรายงานว่า นายเศรษฐพุฒิไม่ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมด้วยตัวเองในการประชุมครั้งนี้ และได้มอบหมายให้นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. เข้าร่วมประชุมแทน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า แม้นายเศรษฐพุฒิ จะไม่ได้เดินทางเข้าร่วมประชุม แต่ก็ได้ทำหนังสือถึงนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีนายรณดลเป็นผู้แจ้งต่อที่ประชุม โดยมีเนื้อหาว่า ธปท.แสดงความเป็นห่วงการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตในหลายประเด็น แยกเป็นเรื่องสำคัญ ๆ ดังนี้

1.กรณีของแหล่งเงินในการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ธปท. ยังแสดงความเป็นห่วงถึงการใช้งบประมาณในโครงการที่สูง แม้ว่ารัฐบาลจะได้ปรับลดกรอบวงเงินลงมาจากเดิม 500,000 ล้านบาท เหลือ 450,000 ล้านบาท ต้องคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังของประเทศเป็นลำดับต้น ๆ 

2.กรณีการจัดทำระบบ และแอปพลิเคชัน เพื่อใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ทั้งการลงทะเบียน การเชื่อมต่อระบบกับสถาบันการเงิน การโอนเงิน และการชำระเงินในโครงการ ควรตรวจสอบระบบให้รอบคอบก่อนนำไปใช้งานจริง และก่อนใช้ต้องแจ้งให้ ธปท.รับทราบก่อน 15 วันด้วย

 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ บอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ต ชุดใหญ่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

แหล่งข่าวบอกกับฐานเศรษฐกิจอีกว่า ในการประชุมบอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ตครั้งนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงการจัดเตรียมแหล่งวงเงินของโครงการอย่างเคร่งเครียด แม้ว่าจะได้ข้อสรุปแล้วว่า จะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณ นั่นคือ 

1.การบริหารการคลังและการบริหารจัดการเงินงบประมาณร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 165,000 ล้านบาท ประกอบด้วย แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท และที่เหลืออีก 43,000 ล้านบาท เป็นการบริหารการคลังและบริหารจัดการเงินงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ 

2. การบริหารการคลังและการบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 285,000 ล้านบาท ประกอบด้วย งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 ที่ตั้งไว้แล้ว 152,700 ล้านบาท และการบริหารการคลังและบริหารจัดการเงินงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ วงเงิน 132,300 ล้านบาท

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

 

แหล่งข่าว ยอมรับว่า ที่ประชุมครั้งนี้คุยกันถึงแหล่งเงินยังไม่ตกผลึก เพราะยังกังวลว่าจะหาเงินได้ไม่ครบ โดยเฉพาะการบริหารจัดการงบประมาณปี 2568 ซึ่งจะต้องหาเงินงบประมาณถึง 132,300 ล้านบาท โดยจะปรับลดโครงการบางส่วนภายใต้งบประมาณปี 2568 โดยจะตัดในชั้นของคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 เบื้องต้นอาจได้เงินเพียงบางส่วนเท่านั้น และสุดท้ายอาจต้องใช้แหล่งเงินบางส่วนจากงบกลางด้วย

ทั้งนี้หากรัฐบาลหาแหล่งเงินภายใต้งบประมาณปี 2568 ได้ไม่เพียงพอ และเลือกช่องทางการใช้งบกลางปี 2568 ก็มีข้อกังวลว่า อาจจะทำให้รัฐบาลมีเงินไปใช้ในเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างจำกัด และอาจทำให้เกิดความเสี่ยงได้ในอนาคต หากเกิดเหตุการณ์ที่นอกเหนือความคาดหมาย

นอกจากนี้ในการประชุมยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการจัดทำรายการสินค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่ม Negative List ที่จะต้องกำหนดรายละเอียดของสินค้าให้ชัดว่าสินค้าใดที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่เข้ามาร่วมโครงการด้วย