โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ดูเหมือนว่า กำลังเข้าใกล้ความเป็นจริงขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาแนะนำให้ประชาชน ที่มีคุณสมบัติและสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมลงโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท สามารถเข้ามาทยอยยืนยันตัวตนด้วยระบบ KYC ได้ล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน ทางรัฐ เพื่อเป็นการทยอยนำข้อมูลการยืนยันตัวตนเข้าสู่ระบบ และป้องกันการ กระจุกตัวของการยืนยันตัวตน หลังระบบมีการเปิดลงทะเบียนโครงการเงินดิจิทัลไปแล้ว
พร้อมกับการไล่เรียงถึงไทม์ไลน์ของเงินดิจิทัล 10,000 บาทในเดือนกรกฎาคม 2567 ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
แค่เพียงการประชุมรอบแรก เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเงินดิจิทัล ก็มีการเปลี่ยนแปลงเสียแล้ว เมื่อคณะอนุฯ มีมติปรับลดวงเงินโครงการเหลือเพียง 4.5 แสนล้านบาท จากวงเงินเดิมที่เคยประกาศไว้ที่ 5 แสนล้านบาท
พร้อมปรับแหล่งเงินใหม่ว่า จะมาจากงบประมาณเป็นหลักคือ เป็นการใช้งบจากงบประมาณปี 2567 จำนวน 1.65 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาทที่ผ่านครม.ไปแล้ว และจากการบริหารจัดการอีก 4.3 หมื่นล้านบาท อีกส่วนจะมาจากงบประมาณปี 2568 จำนวน 2.85 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณประจำ 1.527 แสนล้านบาทที่รวมในงบประมาณรายจ่ายไว้แล้ว และจากการบริหารจัดการอีก 1.323 แสนล้านบาท
จากเดิมที่รัฐบาลเคยแถลงถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการเงินดิจิทัล 5 แสนล้านบาทมาจาก 3 ส่วนคือ
แม้รัฐบาลจะยืนยันว่า วงเงินที่ตั้งไว้ 4.5 แสนล้านบาทนั้น จะเพียงพอกับจำนวนคนที่จะเข้าร่วมโครงการมที่ 50 ล้านคนเหมือนเดิม
พร้อมกับยืนยันว่า จากประสบการณ์ในอดีต จะมีประชาชนมาลงทะเบียนไม่เต็มตามเป้าหมาย หลักๆ ไม่เกิน 90% แต่หากจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าที่ตั้งไว้ ก็จะใช้วิธีการบริหารจัดการงบประมาณเพิ่มเติม ดังนั้นจึงมองว่า การจะใช้เงินตามมาตรา 28 ของธ.ก.ส.จึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป
อาจฟังดูหล่อๆ แต่เบื้องหลังคือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยให้ความเห็นถึงอำนาจของ ธ.ก.ส.ในกรณีการให้บริการสินเชื่อของกองทุนธนาคารอิสลามแก่ประชาชนไว้ชัดเจน เมื่อปี 2549
สืบเนื่องจากมติครม.เมื่อ 24 พฤษภาคม 2540 ให้จัดตั้งธนาคารอิสลาม และมอบหมายให้หน่วยงานรัฐประสานการทำงาน เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการธุรกิจธนาคารแบบอิสลามโดยด่วน
ธ.ก.ส.จึงได้จัดตั้งกองทุนธนาคารอิสลาม เพื่อรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไปแล้วนำเงินที่รับฝากดังกล่าวไปให้บริการทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งการให้บริการทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลามนั้น ไม่สามารถให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าได้ กองทุนธนาคารอิสลาม จึงต้องดำเนินการ โดยวิธีการขายเชื่อ เช่าซื้อ หรือขายผ่อนชำระตามมาตรา 10(4) แห่งพ.ร.บ.ธ.ก.ส.
ในระยะแรกได้ให้บริการเฉพาะเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตรเช่นเดียวกับการให้กู้เงิน ตามมาตรา 10(1) แต่ต่อมาเงินรับฝากของกองทุนธนาคารอิสลามจากประชาชนมีจำนวนมากขึ้น ธ.ก.ส.จึงมีความประสงค์จะขยายการดำเนินการขายเชื่อ เช่าซื้อ หรือขายผ่อนชำระกับบุคคลทั่วไป ที่ไม่ใช่เกษตรกรด้วย
ธ.ก.ส.เห็นว่า สามารถดำเนินการได้ตามมาตรา 10(4) เนื่องจากการดำเนินธุรกิจดังกล่าวเป็นไป เพื่อให้ได้เงินทุนมาดำเนินธุรกิจของธนาคารให้สมประโยชน์ ตามขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา 9 และอำนาจในการกระทำกิจการตามมาตรา 10 ไม่ต้องอยู่ภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา 9 เช่น การรับฝากเงิน ตามมาตรา 10 (5) ธ.ก.ส. สามารถรับฝากเงินจากบุคคลทั่วไปได้ มิใช่รับฝากเงินจากเกษตรกร เท่านั้น
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 3) มีความเห็นว่า การที่ ธ.ก.ส. ประสงค์จะให้บริการสินเชื่อแก่ประชาชนทั่วไปไม่ใช่การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บุคคล หรือ กลุ่มบุคคลที่กฎหมายกำหนดไว้ ธ.ก.ส. ย่อมไม่มีอำนาจกระทำได้เพราะมิใช่การกระทำ กิจการที่อยู่ภายใต้ขอบวัตถุประสงค์ของกฎหมายจัดตั้งตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.บ.ธ.ก.ส. 2509
เรื่องนี้รัฐบาลเองก็รู้เรื่องนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ยื้อเวลาโครงการ หรือ บังเอิญมาเจอตอเข้าจริงๆ
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,009 วันที่ 14 - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567