วันนี้ (16 กรกฎาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ โครงการสินเชื่อซอฟต์โลน วงเงิน 1 แสนล้านบาท ดำเนินการโดยธนาคารออมสิน ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงรายละเอียดโครงการสินเชื่อซอฟต์โลน ว่า เงื่อนไขของซอฟต์โลน ธนาคารออมสินปล่อยซอฟต์โลนให้สถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ย 0.1% เพื่อไปปล่อยสินเชื่อต่อให้กับธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้กับลูกค้ารายใหม่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ยังไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อ เพื่อช่วยเติมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ
โดยมีเงื่อนไขดอกเบี้ย 1-3 ปีแรกไม่เกิน 3.5% เพื่อเป็นการช่วยผู้ประกอบการและประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ทั้งนี้จะมีการแยกบัญชีโครงการให้สินเชื่อตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนรายย่อยและโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ของธนาคารออมสินเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Sevice Account : PSA) เพื่อไม่ให้กระทบผลการดำเนินงานโดยรวม
“สินเชื่อซอฟต์โลน ครั้งนี้ วงเงินจะกระจายไปในระบบเศรษฐกิจ ถือเป็นวงเงินที่สูงเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งในขณะนั้นมีการออกมาตรการซอฟต์โลนไปแล้ว 5 แสนล้านบาท และครั้งนี้ต้องขอบคุณธนาคารออมสินที่ดำเนินการในเรื่องนี้ โดยไม่ใช้งบประมาณและไม่ใช้วงเงินตามมาตรา 28 เพราะออมสินยอมเฉือนเนื้อใช้เงินจากกำไรในการดำเนินการบางส่วนมาช่วยในโครงการนี้ คิดเป็นวงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท” รมช.คลัง ระบุ
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงรายละเอียดว่า โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในด้านการลงทุนและเสริมสภาพคล่อง
สำหรับวิธีดำเนินงาน ธนาคารออมสินสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 100,000 ล้านบาทให้แก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยคิดดอกเบี้ยในอัตรา 0.01% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี และสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในอัตรา 3.5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท (รวมทุกสถาบันการเงิน)
ทั้งนี้ ภายใต้วงเงินดังกล่าวธนาคารออมสินสามารถให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการโดยตรงในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดียวกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ
ส่วนระยะเวลาดำเนินงาน ผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจสามารถยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 หรือจนกว่าวงเงินสินเชื่อรวมในโครงการจะหมด แล้วแต่ระยะเวลาใดจะถึงก่อน โดยให้เบิกจ่ายสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2567
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up เป็นไปตามวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์โครงการ จึงเห็นควรขอความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์โครงการ โดยให้สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการสอบทานกระบวนการอนุมัติสินเชื่อและสุ่มทานสินเชื่อรายลูกหนี้ในโครงการให้เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการ
พร้อมทั้งจัดทำรายงานสรุปผลการสอบทานดังกล่าวเป็นการแยกเฉพาะจากธุรกรรมสินเชื่อประเภทอื่นๆ เป็นประจำทุกไตรมาสและรวบรวมรายงานดังกล่าวไว้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานการสอบทานสินเชื่อสำหรับการเข้าตรวจสอบสถาบันการเงินประจำปีของ ธปท.
อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการกำกับดูแล การตรวจสอบและการประเมินผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการทำหน้าที่เป็นกลไกของรัฐเพื่อฟื้นฟู และช่วยเหลือกลุ่มประชาชนและธุรกิจเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น กระทรวงการคลังจึงเห็นควรเสนอการแยกบัญชีโครงการให้สินเชื่อดังกล่าวของธนาคารออมสินเป็นบัญชี PSA