เครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศผิดหวัง รัฐไม่ให้ร่วมดิจิทัล 1 หมื่นบาท ร้องทบทวน

16 ก.ค. 2567 | 07:35 น.
อัพเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2567 | 08:02 น.

เครื่องใช้ไฟฟ้าผลิตในประเทศผิดหวัง ไม่ได้อานิสงส์ดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท หลังถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Negative List ไม่ให้เข้าร่วมโครงการ ระบุควรแยกแยะ ผู้ใช้ชิ้นส่วนละขายในประเทศราคาเพียงหลักร้อยถึงหลักพันต้น ๆ ควรร่วมรายการได้ หวังรัฐบาลทบทวน

จากที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตที่มีนายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ได้มีมติเพิ่มรายการสินค้าไม่ร่วมรายการ (Negative List) จาก 16 รายการเพิ่มอีก 3 รายการเป็น 19 รายการ โดย 3 รายการที่เพิ่มขึ้นได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์สื่อสาร ซึ่งได้นำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาอนุมัติเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม  ขณะที่นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ประกาศผ่านโซเชียลเดีย ข้อความว่า “ดิจิทัลวอลเล็ตพร้อม เปิดลงทะเบียน 1 ส.ค. นี้ ครับ"

อย่างไรก็ดีจากที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตได้เพิ่ม 3 รายการสินค้าไม่ร่วมรายการ ซึ่งรวมถึงสินค้าเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นหนึ่งในสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันนั้น

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คณะอนุกรรมการฯ ควรมีการทบทวน และแยกแยะให้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในประเทศผลิต และจำหน่ายในประเทศ และขายในราคาไม่แพงสามารถเข้ารวมโครงการได้ ไม่ควรเหมารวมว่าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขายในประเทศส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้า หรือใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศมาประกอบเพื่อจำหน่าย ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ไทยได้รับประโยชน์เป็นทางเลือกซื้อของประชาชน เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขาย และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม

“สินค้าที่รัฐบาลไม่ให้เข้าร่วมโครงการมุ่งไปที่สินค้าที่มีการนำเข้า และสินค้าที่มีราคาสูง ทั้งนี้เพื่อกระจายเม็ดเงินให้ไปถึงมือผู้ประกอบการและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการให้มากที่สุด ซึ่งโดยลอจิกหรือตรรกะก็ไม่ผิดหลักการ แต่ในข้อเท็จจริงในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังมีผู้ผลิตที่ใช้ชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบในประเทศ และจำหน่ายสินค้าในประเทศเป็นหลัก ดังนั้นก็ควรจะได้รับอานิสงส์ในครั้งนี้ด้วย ไม่ใช่เหมารวมสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกรายการไม่ให้เข้าร่วมโครงการ”

ทั้งนี้ขอยกตัวอย่างสินค้าพัดลมแบรนด์ฮาตาริ(Hatari) ที่มีเจ้าของเป็นคนไทย ใช้ชิ้นส่วน/วัตถุดิบจากในประเทศ และยังมีโรงงานในเครือที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับพัดลมแบรนด์อื่น ๆ ด้วย โดยราคาขายของพัดลมแบรนด์นี้ก็มีราคาไม่สูง อยู่ที่หลักร้อย หรือหลักพันบาทต้น ๆ เท่านั้น

“ที่ยกตัวอย่างพัดลมฮาตาริเพื่อให้เห็นได้ชัด เราไม่ได้เชียร์ และก็ไม่ได้เป็นผู้บริหารของฮาตาริ เพียงแต่อยากจะบอกและชี้เป้าว่าโดยตรรกะการห้ามสินค้าใดเข้าร่วมหรือไม่เข้ารวมโครงการฯ ควรจำแนกให้ดี ซึ่งหากเป็นสินค้าที่ผลิตในไทย ใช้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในไทยก็ควรให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้ นอกจากเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วยังมีอีกหลายสินค้าที่ผลิตในประเทศและเป็นที่นิยมในการใช้ เช่น แบตเตอรี่ชาร์จมือถือ เป็นต้น

ขณะเดียวกันรัฐบาลอาจจะไปกำหนดว่าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท สามารถซื้อสินค้าได้ครั้งละไม่เกินกี่บาท ถ้ากำหนดแบบนี้จะเป็นสินค้าอะไรก็คงไม่สำคัญ เพราะเงินดิจิทัล 1หมื่นบาทก็ไม่ได้ไปซื้ออะไรได้มากมายนัก แต่ที่รัฐบาลไม่ให้หลายรายการสินค้าเข้าร่วมรายการ คงกลัวประโยชน์จะไปตกกับสินค้านำเข้า เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจากจีนมากกว่า ก็เลยกลายเป็นว่าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของผู้ผลิตไทยพลอยไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ไปด้วย หากทบทวนได้จะมีความสมเหตุสมผลและดีมาก”แหล่งข่าววงการเครื่องใช้ไฟฟ้า กล่าว