โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ได้ฤกษ์นับหนึ่งการลงมือก่อสร้างหลังหยุดชะงักมานานหลายปี ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน โดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะการประมูล รวมทั้งเห็นชอบและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนโครงการ
โดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า หลังจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ผ่านการเห็นชอบจากครม.แล้ว กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเร่งรัดลงนามสัญญากับ BEM ภายในวันที่ 18 ก.ค.นี้ หลังจากนั้นเอกชนจะสามารถเข้าดำเนินการในพื้นที่โครงการได้ทันที
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า แม้ ครม. จะมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดนั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ตรวจสอบพบว่า
สัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดที่เสนอให้ครม.พิจารณา ยังไม่ได้ปรับแก้ไขให้ตรงกับผลการเจรจา เช่น อัตราค่าโดยสาร ยังคงระบุอัตราค่าโดยสารเดิมที่ 20-62 บาท ทั้ง ๆ ที่ได้มีการเจรจาปรับลดลงมาเหลือ 17-22 บาท สลค. จึงเสนอให้ รฟม. แก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ให้สอดคล้องกับผลการเจรจา เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการ และป้องกันข้อพิพาทที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้จากการตรวจสอบเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีรายละเอียดสรุปเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
รัฐบาลมีความประสงค์ให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อขยายและเชื่อมโยงโครงข่ายของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีอยู่ให้กว้างขวาง ครอบคลุม สะดวกรวดเร็ว แก้ไขปัญหาการจราจร อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และลดภาระการลงทุนของภาครัฐ
1. รฟม. ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันออก และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เอกชนสำหรับก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตก
2. ผู้ร่วมลงทุนดำเนินการออกแบบและก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตก และออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบการทำงานของอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา รวมไปถึงระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บริการทั้งโครงการฯ รวมทั้งจัดหาเงินทุนเพื่อดำเนินโครงการฯ
ออกแบบและก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันออก และส่งมอบโครงสร้างงานโยธาดังกล่าว พร้อมฝึกอบรมการใช้งานโครงสร้างงานโยธาให้แก่ผู้ร่วมลงทุนตามที่กำหนดในสัญญา รวมทั้งส่งมอบพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการฯ ส่วนตะวันตกให้แก่ผู้ร่วมลงทุนตามแผนการส่งมอบพื้นที่ที่กำหนดในสัญญา
สำหรับในระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้างของโครงการฯ ส่วนตะวันออก และส่วนตะวันตก และระยะที่ 2 การให้บริการเดินรถไฟฟ้า หากงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันออกเกิดความเสียหายหรือชำรุด โดยไม่ได้มาจากความผิดพลาดหรือบกพร่องของผู้ร่วมลงทุน รฟม. จะรับผิดชอบแก้ไข ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการดำเนินการให้โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ เชื่อมต่อกันตามแผนแม่บทของ รฟม.
ออกแบบและก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตก และการจัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบระบบรถไฟฟ้าโครงการฯ ให้แล้วเสร็จ (งานระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้างของโครงการฯ ส่วนตะวันออก และส่วนตะวันตก)
การให้บริการเดินรถไฟฟ้าและบำรุงรักษาทั้งโครงการฯ และมีสิทธิในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ตามที่กำหนดในสัญญา (งานระยะที่ 2 การให้บริการเดินรถไฟฟ้า) การจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน การจัดเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการ และจ่ายเงินตอบแทนให้ รฟม. ตามที่กำหนดในสัญญา
การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาให้แก่ รฟม. ตั้งแต่วันเปิดให้บริการ โดย รฟม. จะมอบสิทธิ ครอบครองในการใช้ทรัพย์สินแก่ผู้ร่วมลงทุนเพื่อดำเนินงานตามสัญญา รวมถึงการส่งมอบสิทธิครอบครองทรัพย์สินตามสัญญาคืนให้กับ รฟม. ทันทีที่สัญญาสิ้นสุดลง และการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ รฟม. ตามที่ รฟม. กำหนด
ผู้ร่วมลงทุนมีระยะเวลาดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 : การออกแบบและก่อสร้าง โครงการฯ ส่วนตะวันออก (สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - สถานีสุวินทวงศ์) มีระยะเวลา ดำเนินการไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน หรือระยะเวลาที่ได้รับการขยายจาก รฟม. ขณะที่โครงการฯ ส่วนตะวันตก (สถานีบางขุนนนท์ - สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) มีระยะเวลา ดำเนินการไม่เกิน 6 ปี หรือระยะเวลาที่ได้รับการขยายจาก รฟม.
ระยะที่ 2 : การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า มีระยะเวลาดำเนินการ 30 ปี นับจากวันที่เริ่มการบริการ ที่ก่อให้เกิดรายได้ในโครงการฯ ส่วนตะวันออก
กรรมสิทธิ์ในงานโยธาในโครงการฯ ส่วนตะวันตก และงานระบบรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้จัดสร้าง หรือจัดหามาตามสัญญานี้ จะตกเป็นของ รฟม. หลังจากที่ระบบได้ผ่านการทดสอบทั้งหมดที่จำเป็นตามสัญญา และ รฟม. ได้ออกหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้าให้แก่ผู้ร่วมลงทุนแล้ว
โดย รฟม. จะมอบสิทธิในการดูแล ควบคุม และครอบครองในทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องดังกล่าว รวมทั้งงานโยธาในโครงการฯ ส่วนตะวันออก (แต่ไม่รวมอาคารจอดแล้วจรและพื้นที่ที่ รฟม. ไม่ได้มอบสิทธิ) ให้แก่ผู้ร่วมลงทุนในวันเดียวกัน เพื่อทำการบริหารจัดการ เดินรถ และบำรุงรักษาระบบโครงการฯ ตลอดระยะเวลาตามสัญญา
กำหนดอัตราค่าโดยสาร ณ ปีเปิดให้บริการ เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญา โดยปรับอัตราค่าโดยสารทุก ๆ 24 เดือนตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งจะเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียวในระบบรถไฟฟ้าของ รฟม. โดยระบบที่ผู้โดยสารขึ้นก่อนได้รับค่าแรกเข้า
สำหรับการจ่ายค่างานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตกให้แก่ผู้ร่วมลงทุน รฟม. จะรับผิดชอบจ่ายค่างานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตก โดยชำระเป็นสกุลเงินบาทให้แก่ผู้ร่วมลงทุน ตามเงื่อนไขและวิธีการที่กำหนดในสัญญา
ขณะที่การจ่ายเงินตอบแทนให้แก่ รฟม. ผู้ร่วมลงทุนตกลงแบ่งเงินรายได้ให้แก่ รฟม. ในระยะที่ 2 ของสัญญา ดังนี้
รฟม. จะช่วยในการประสานงานให้ผู้ร่วมลงทุนได้รับการส่งเสริมการลงทุนภายใต้พระราชบัญญัติ ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ซึ่ง รฟม. จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตก โดยชำระเป็นสกุลเงินบาท ให้แก่ผู้ร่วมลงทุน ตามเงื่อนไขและวิธีการที่กำหนดในสัญญา
การดำเนินงานในระยะที่ 1 : ผู้ร่วมลงทุนจะต้องดำเนินการออกแบบและก่อสร้างให้ถูกต้องตามข้อกำหนดของ รฟม. และให้แล้วเสร็จภายใน วันที่กำหนด โดยโครงการฯ ส่วนตะวันออก มีระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน และส่วนตะวันตก มีระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 6 ปี
การดำเนินงานในระยะที่ 2 : ผู้ร่วมลงทุนต้องรับผิดชอบจัดให้มีการเดินรถไฟฟ้าและบำรุงรักษา เพื่อให้การให้บริการเดินรถไฟฟ้าเป็นไป อย่างต่อเนื่องและไม่หยุดชะงัก โดย รฟม. จะประเมินผลการดำเนินงานในระยะที่ 2 ด้วยดัชนีชี้วัด (KPI) ตามรายละเอียดในข้อกำหนดของ รฟม.
หลักประกันสัญญาสำหรับงานในระยะที่ 1 เป็นจำนวน 4,500 ล้านบาท โดย รฟม. จะคืนหลักประกัน ดังกล่าวให้ผู้ร่วมลงทุน เมื่องานในระยะที่ 1 แล้วเสร็จและสามารถเริ่มการบริการที่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งสาย
หลักประกันสัญญาสำหรับงานในระยะที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 200 ล้านบาท โดย รฟม. จะคืนหลักประกัน สัญญาฉบับนี้เมื่อผู้ร่วมลงทุนพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญานี้แล้ว
ในกรณีที่อำนาจในโครงการฯ ถูกโอนไปยังหน่วยงานของรัฐอื่น ผู้ร่วมลงทุนต้องยอมรับหน่วยงานของรัฐ ดังกล่าวนั้นเป็นคู่สัญญาแทนที่ รฟม.
ผู้ร่วมลงทุนจะต้องไม่โอนสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาให้บุคคลอื่น เว้นแต่ได้รับความยินยอมล่วงหน้า เป็นลายลักษณ์อักษรจาก รฟม.
หากมีข้อพิพาทให้เจรจากันเพื่อยุติข้อพิพาทโดยฉันมิตร ในกรณีที่ไม่ได้ข้อยุติ คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจนำเรื่องขึ้นสู่ศาลไทยที่มีเขตอำนาจ
ให้สัญญาฉบับนี้อยู่ภายใต้บังคับและตีความตามกฎหมายไทย