"กรอ." สั่งฟัน “โรงงานปลาร้า ขอนแก่น" ผิด พ.ร.บ.โรงงานฯ

18 ก.ค. 2567 | 09:54 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2567 | 09:55 น.

"กรอ." สั่งฟัน “โรงงานปลาร้า ขอนแก่น" ผิด พ.ร.บ.โรงงานฯ หลังประชาชนได้รับความเดือดร้อน ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งและปล่อยน้ำเสียลงหนองน้ำและในที่ดินของประชาชน ระบุเป็นปัญหาสะสมมานานกว่า 7 ปี

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรอ. เร่งประสานสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น (สอจ.ขอนแก่น) ตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที กรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากโรงงานปลาร้าชื่อดัง จำนวน 2 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น 

ที่ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งและปล่อยน้ำเสียลงหนองน้ำและในที่ดินของประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาสะสมมานานกว่า 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2560 โดยจะมีกลิ่นเหม็นคาวปลาโชยตามกระแสลมมากกว่าปกติในช่วงฤดูร้อน 

แม้ว่าประชาชนจะพยายามร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่โรงงานยังคงดำเนินการปรับปรุงไม่แล้วเสร็จ ส่วนโรงงานอีกแห่งกลับถูกตรวจพบว่าไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)

ทั้งนี้ จากการประสานงานเบื้องต้นกับ สอจ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยมีพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า โรงงานผลิตน้ำปลาร้าทั้ง 2 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ประกอบกิจการผลิตน้ำปลาร้าสำเร็จรูปบรรจุขวด 

"กรอ." สั่งฟัน “โรงงานปลาร้า ขอนแก่น" ผิด พ.ร.บ.โรงงานฯ

โดยโรงงานแห่งแรก สอจ.ขอนแก่น ได้สั่งการตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้โรงงานปรับปรุงระบบบำบัดมลพิษทางอากาศและระบบจัดเก็บวัตถุดิบในอาคารโรงงานให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต โดยกำหนดปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 

แต่โรงงานขอขยายระยะเวลา เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบหม้อต้มให้ทันสมัยไร้กลิ่น รวมทั้งการจัดเก็บวัตถุดิบในถังที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันกลิ่นเหม็นที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อาศัยใกล้เคียง สอจ.ขอนแก่น จึงอนุญาตให้ขยายระยะเวลาปรับปรุงถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 เพื่อให้โรงงานสามารถดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จอย่างมีประสิทธิภาพ
 

ส่วนโรงงานแห่งที่ 2 ตรวจสอบพบว่าสถานประกอบการมีลักษณะเข้าข่ายเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 แต่ไม่พบใบ ร.ง.4 ในระบบงานอนุญาตของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนการปฏิบัติตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

"สอจ.ขอนแก่น เตรียมสั่งการตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ให้หยุดประกอบกิจการจนกว่าจะได้รับการอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน" โดยให้มีผลนับถัดจากวันที่โรงงานรับทราบคำสั่ง