ชาวบ้านอ่วม เวนคืนที่ดินสร้าง “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” 380 แปลง

19 ก.ค. 2567 | 03:37 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2567 | 03:47 น.

“รฟม.” เตรียมออกหนังสือแจ้งเริ่มงาน ดึง BEM เข้าพื้นที่ก่อสร้างภายในเดือน ก.ค.นี้ หลังปิดดีลลงนามสัญญาร่วมทุน รถไฟฟ้าสายสีส้ม ลุยเวนคืนที่ดิน 380 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 400 หลัง วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และและบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ

 นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กล่าวว่า หลังจากการลงนามสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น เบื้องต้นบริษัทได้ขอแหล่งเงินกู้จากธนาคารกรุงเทพฯ วงเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินการลงทุนโครงการฯ ซึ่งทางสถาบันการเงินได้อนุมัติแล้ว โดยบริษัทวางแผนลงทุนก่อสร้างโครงการฯ สายตะวันตกประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี

 ทั้งนี้ตามสัญญารฟม.จะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) เพื่อให้บริษัทเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ภายในเดือน ก.ค.นี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการสั่งซื้อและจัดหาขบวนรถ จำนวน 30 คัน ขบวนละ 3 ตู้ ภายในปีนี้ ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี ก่อนจะเปิดให้บริการในสายตะวันออกก่อน

นอกจากนี้คาดว่าจะเปิดให้บริการสายตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในสิ้นปี 2570 เพื่อเป็นของขวัญประชาชนในวันปีใหม่ในปี 2571 จากเดิมที่จะเปิดให้บริการภายในเดือนพฤษภาคมปี 2571

ส่วนการเปิดให้บริการส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย พร้อมตลอดทั้งเส้นทาง จะเปิดให้บริการภายในกลางปี 2573 จากเดิมที่จะเปิดให้บริการภายในเดือน พฤศจิกายน 2573

 ขณะที่การเวนคืนที่ดินของโครงการฯ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบ ที่ดินที่ถูกเวนคืน 380 แปลง และที่ดินที่ต้องกำหนดลักษณะภาระในอสังหาริมทรัพย์ 410 แปลง

และต้องรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างประมาณ 400 หลัง โดยค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์โครงการส่วนตะวันตกมีกรอบวงเงิน 14,661 ล้านบาท

โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะดำเนินการในรูปแบบ PPP Net Cost แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ช่วง ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. ปัจจุบันก่อสร้างงานโยธาเสร็จแล้ว

ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กม. โดยรัฐลงทุนค่างานจากกรรมสิทธิ์ที่ดิน สายสีส้ม ส่วนตะวันตก

และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ส่วนตะวันตกและค่างานระบบรถไฟฟ้าขบวนรถไฟฟ้าบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทาง ตั้งแต่ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2567 จำนวน 40 เขตที่ดิน ความว่าพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงตลิ่งชัน แขวงฉิมพลี แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน แขวงบางขุนนนท์ แขวงบางขุนศรี แขวงศิริราช แขวงบ้านช่างหล่อ

แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แขวงชนะสงคราม แขวงพระบรมมหาราชวัง แขวงตลาดยอด

แขวงบวรนิเวศ แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร แขวงวัดโสมนัส แขวงบ้านบาตร แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แขวงสี่แยกมหานาค แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต แขวงทุ่งพญาไท แขวงถนนเพชรบุรี แขวงถนนพญาไท แขวงมักกะสัน

เขตราชเทวี แขวงปทุมวัน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท แขวงดินแดง แขวงรัชดาภิเษก เขตดินแดง และแขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

 เพื่อดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดสร้างโครงการขนส่งด้วยระบบรถไฟฟ้า และกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟฟ้าตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยและเพื่อนำที่ดินไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน

 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 และมาตรา 35 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

 มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงตลิ่งชัน แขวงฉิมพลี แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน

แขวงบางขุนนนท์ แขวงบางขุนศรี แขวงศิริราช แขวงบ้านช่างหล่อ แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด

 แขวงชนะสงคราม แขวงพระบรมมหาราชวัง แขวงตลาดยอด แขวงบวรนิเวศ แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร แขวงวัดโสมนัส แขวงบ้านบาตร แขวงคลองมหานาค

เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แขวงสี่แยกมหานาค แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต แขวงทุ่งพญาไท แขวงถนนเพชรบุรี แขวงถนนพญาไท

แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี แขวงปทุมวัน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท แขวงดินแดง แขวงรัชดาภิเษก เขตดินแดง และแขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2567”

มาตรา 5 เขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้ อยู่ในท้องที่แขวงตลิ่งชัน แขวงฉิมพลี แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน แขวงบางขุนนนท์ แขวงบางขุนศรี แขวงศิริราช แขวงบ้านช่างหล่อ

แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แขวงชนะสงคราม แขวงพระบรมมหาราชวัง แขวงตลาดยอด แขวงบวรนิเวศ

แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร แขวงวัดโสมนัส แขวงบ้านบาตร แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แขวงสี่แยกมหานาค แขวงสวนจิตรลดา

เขตดุสิต แขวงทุ่งพญาไท แขวงถนนเพชรบุรี แขวงถนนพญาไท แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี แขวงปทุมวัน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน

แขวงสามเสนใน เขตพญาไท แขวงดินแดง แขวงรัชดาภิเษก เขตดินแดง และแขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้

มาตรา 6 ให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

มาตรา 7 ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่ในการเวนคืน

มาตรา 8 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือเนื่องจากมีความจำเป็นต้องดำเนินกิจการรถไฟฟ้า ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดสร้างโครงการขนส่งด้วยระบบรถไฟฟ้า

และกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟฟ้าตามโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในท้องที่แขวงตลิ่งชัน

แขวงฉิมพลี แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน แขวงบางขุนนนท์ แขวงบางขุนศรี แขวงศิริราช แขวงบ้านช่างหล่อ แขวงอรุณอมรินทร์

เขตบางกอกน้อย แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แขวงชนะสงคราม แขวงพระบรมมหาราชวัง แขวงตลาดยอด แขวงบวรนิเวศ แขวงบ้านพานถม

เขตพระนคร แขวงวัดโสมนัส แขวงบ้านบาตร แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แขวงสี่แยกมหานาค แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต

แขวงทุ่งพญาไท แขวงถนนเพชรบุรี แขวงถนนพญาไท แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี แขวงปทุมวัน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน แขวงสามเสนใน

เขตพญาไท แขวงดินแดง แขวงรัชดาภิเษก เขตดินแดง และแขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค

และเพื่อนำที่ดินไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน สมควรกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ดังกล่าว

เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้