เตือน 4 ย่านสำคัญ กทม. เสี่ยงรถติดหนักช่วงสร้าง "รถไฟฟ้าสายสีส้ม"

19 ก.ค. 2567 | 08:50 น.
อัพเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2567 | 09:10 น.

ทำใจรอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เตรียมเจอรถติดหนัก สลค.เตือน 4 ย่านสำคัญของ กทม. เป็นพื้นที่เสี่ยงรถติดหนักระหว่างก่อสร้าง แนะคมนาคม รฟม. เอกชน หาทางรับมือไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร มูลค่าโครงการกว่า 1.4 แสนล้านบาท นับเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญด้านการพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะ มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางของกรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เพื่อช่วยลดปริมาณรถยนต์และการจราจรแออัดในตัวเมือง ผ่านการลงทุนรูปแบบของการขนส่งทางราง ซึ่งช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางในเมืองได้ดีที่สุด 

ล่าสุดโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ก็ได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการ โดยมี บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะการประมูล

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ได้หารือกับ BEM ผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ BEM ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไปแล้วเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา คาดว่าจะเปิดให้บริการสายตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในสิ้นปี 2570

ขณะที่การเปิดให้บริการส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย พร้อมตลอดทั้งเส้นทาง ภายในกลางปี 2573 จากเดิมที่จะเปิดให้บริการภายในเดือน พฤศจิกายน 2573

 

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

อย่างไรก็ตามก่อนที่จะไปถึงเป้าหมายคือการเปิดให้บริการภายในช่วงเวลา 3-4 ปีข้างหน้านั้น สิ่งที่น่ากังวลที่สุดในระหว่างทางนั่นก็คือ ปัญหาการจราจรติดขัด ในช่วงระหว่างการก่อสร้างโครงการ ล่าสุด สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แสดงความกังวลในช่วงระหว่างการก่อสร้างงานโยธาของโครงการฯ ส่วนตะวันตก อาจส่งผลให้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน

ทั้งนี้ สลค. ระบุว่า ในการออกแบบและก่อสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก จะเริ่มต้นที่สถานีบางขุนนนท์ และผ่านพื้นที่สำคัญ 4 จุด เช่น โรงพยาบาลศิริราช อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แยกยมราช สี่แยกประตูน้ำ และไปสิ้นสุดที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 

ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวมีประชาชนสัญจรไปมาจำนวนมากและมีปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น จึงอาจส่งผลให้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นกระทรวงคมนาคม และ รฟม. ควรจัดทำแผนการบริหารการจราจรระหว่างการก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก เพื่อลดผลกระทบทางการจราจรและเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพื้นที่ดำเนินโครงการ 

นอกจากนี้ เนื่องจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ดำเนินการในพื้นที่จำกัดและมีประชาชนอยู่บริเวณโดยรอบโครงการ จึงเสนอให้กระทรวงคมนาคม และ รฟม. กำกับดูแลการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิดและเข้มงวด 

พร้อมทั้งปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่เสนอไว้ในรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้การดำเนินโครงการก่อให้เกิดความเสียหายและเป็นอันตรายต่อประชาชนหรือผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งเพื่อให้การก่อสร้างโครงการมีความปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานสากล

สำหรับแผนการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น เบื้องต้นได้กำหนดระยะเวลาการก่อสร้างเอาไว้ โดยในโครงการส่วนตะวันตก จะเริ่มต้นงานก่อสร้างงานโยธาได้ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2567 - ตุลาคม 2573 ส่วนโครงการในส่วนตะวันออก งานก่อสร้างงานโยธาได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว