อึ้ง พบ 11 บริษัทส่งออกปลาสวยงามปี 56-59 จี้สอบขายหมดสต๊อกก่อนถูกแบนหรือไม่

23 ก.ค. 2567 | 04:10 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2567 | 04:25 น.

วงการปลาสวยงาม อ้างข้อมูลกรมประมง ระบุปี 2556-2559 มีถึง 11 บริษัทที่ส่งออกปลาหมอสีคางดำเป็นปลาสวยงามกว่า 2.3 แสนตัว ชี้ชัดปลาชนิดนี้ในไทย มีแหล่งที่มาหลายทาง จี้ตรวจสอบผู้ประกอบการขายปลาไปหมดสต๊อกจริงหรือ

แหล่งข่าวจากวงการปลาสวยงามระบุ ปลาหมอคางดำ (Blackchin Tilapia) เป็นหนึ่งใน 17 กลุ่มปลาแปลก หรือ Exotic Freshwater Fish ที่นิยมเลี้ยงกันในต่างประเทศ รวมถึงติดอันดับกลุ่มปลาที่สามารถใช้เป็นอาหารได้ที่ถูกนำมาเลี้ยงเป็นงานอดิเรก จึงไม่น่าแปลกใจที่พบว่ามี บริษัทไทยสนองตอบต่อความต้องการในตลาดนี้ และสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกปลาชนิดนี้จริง ซึ่งไม่ใช่มีเพียงแค่รายเดียว แต่มีบริษัททำธุรกิจส่งออกปลาตัวนี้มากถึง 11 ราย ในช่วงปี 2556-2559 ที่จำหน่ายไปยัง 17 ประเทศ รวมกว่า 2.3 แสนตัว

จากข้อมูลของกรมประมงพบว่า บริษัทที่ส่งออกปลาหมอคางดำมากที่สุดถึง 162,000 ตัว คือ หจก.ฉาง ซิน เอ็นเตอร์ไพร์ส รองลงมาคือ หจก. ซีฟู้ดส์ อิมปอร์ต-เอ็กซ์ปอร์ต  ที่ส่งออก 30,000 ตัว  ลำดับสาม บจก.นิว วาไรตี้ ส่งออก 29,000 ตัว ลำดับสี่ บจก.พี. แอนด์ พี. อควาเลี่ยม เวิลด์ เทรดดิ้ง  ส่งออกไป 3,638 ตัว และลำดับห้า บจก.ไทย เฉียน หวู่ ส่งออก 2,900 ตัว

อึ้ง พบ 11 บริษัทส่งออกปลาสวยงามปี 56-59 จี้สอบขายหมดสต๊อกก่อนถูกแบนหรือไม่

ส่วนบริษัทอื่น ๆ ประกอบด้วย บจก.แอดวานซ์ อควาติก, บจก.เอเชีย อะควาติคส์, บจก.หมีขาว, หจก.วีอควอเรียม, บจก.สยามออร์นา เมนทอล ฟิช และ หจก.สมิตรา อะแควเรี่ยม ที่มียอดส่งออกในหลัก 100-900 ตัวต่อราย  

"ข้อมูลการส่งออกนี้แสดงให้เห็นว่า ปลาชนิดนี้ในประเทศไทย มีแหล่งที่มาหลายทาง ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีประกาศห้ามส่งออก ต่อมาเมื่อรัฐบาลห้ามส่งออกในปี 2561 ก็ไม่พบการส่งออกปลาหมอคางดำอีกเลย  ชวนให้คิดได้ว่า ธุรกิจปลาส่งออกเหล่านี้ขายปลาไปหมดสต๊อกได้พอดีจริงหรือ และถ้าไม่ใช่ ผู้ส่งออกเหล่านี้ดำเนินการกับปลาที่เหลืออย่างไร โดยเฉพาะกับพ่อแม่พันธุ์"

ขณะเดียวกันเมื่อได้อ่านงานวิจัยของกรมประมง เรื่อง “ความหลากหลายทางพันธุกรรมกับพันธุปฎิทรรศน์ของการระบาดปลาหมอสีคางดำในประเทศไทย” โดย อภิรดี หันพงศ์กิตติกูล วงศ์ปฐม กมลรัตน์ ทิวารัตน์ เถลิงเกียรติ ลีลา และ สุภาภรณ์ ชาวสวน ที่ตีพิมพ์ในวารสารการประมงอิเล็กทรอนิกส์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ตุลาคม - ธันวาคม 2563 ยังระบุว่า ประชากรปลาหมอสีคางดำที่แพร่กระจายในประเทศไทย มีการแบ่งเป็น 2 หรือ 3 กลุ่มย่อย ที่มีความแตกต่างทางพันธุกรรมสูง โดยประชากรปลาในจังหวัดสมุทรสงคราม เพชรบุรี ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ มีความคล้ายคลึงทางพันธุกรรมมากกว่าประชากรจาก จ.ระยอง ซึ่งมีความแตกต่างทางพันธุกรรมกับประชากรอื่น ๆ อย่างชัดเจน และนำมาผนวกกับข้อมูลบริษัทส่งออกที่ส่งออกที่ขายออกไปถึง 17 ประเทศ ดังนั้นปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดอยู่นี้ น่าจะมาจากหลายแหล่ง   

อย่างไรก็ดี คงต้องตามกันต่อไปว่า บริษัทส่งออกเหล่านี้ มีวิธีบริหารจัดการสินค้าอย่างไร ทั้งการจัดหาก่อนการส่งออก การดูแลรักษาปลา รวมถึงการทำลายปลาหลังมีประกาศกฎหมายห้ามส่งออกปลาหมอคางดำออกมา