วันที่ 22 ก.ค. 67 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน การประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ
โดยมี นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนสมาคมการประมงจาก 16 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ เข้าร่วม ณ สมาคมการประมงสมุทรสาคร อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับข้อเสนอจากสมาคมใน 9 มาตรการ อาทิ การกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ การผ่อนผันเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการใช้จับปลาหมอคางดำ การจัดสรรงบประมาณเร่งด่วนสนับสนุนในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับชาวประมง และการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจในแต่ละจังหวัด เป็นต้น
ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบทั้ง 9 มาตรการ และได้มอบหมายกรมประมงนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติ โดยได้มอบหมาย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ พร้อมนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอเป็นวาระแห่งชาติต่อไป
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงได้มีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวฯ เป็นการเร่งด่วนผ่าน 5 มาตรการสำคัญ คือ
นอกจากนี้ ยังบูรณาการร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินในการนำปลาหมอคางดำที่จับขึ้นมาได้ไปผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ และประสานความร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทยในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ระบาดทุกแห่ง
ซึ่งขณะนี้กรมประมงได้มีการรวบรวมแพปลาที่ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการด้านการประมง (ทบ.2) กับกรมประมง ในพื้นที่ที่มีการระบาด 14 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 49 จุด ได้แก่
สำหรับพิจารณาจัดตั้งเป็นจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ โดยการันตีราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 15 บาท ก่อนรวบรวมปลาหมอคางดำที่รับซื้อไว้ไปให้สถานีพัฒนาที่ดินแต่ละพื้นที่ผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ เพื่อส่งมอบให้การยางแห่งประเทศไทยนำไปแจกจ่ายแก่เกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่ เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่สวนยางกว่า 200,000 ไร่ โดยจะเริ่มเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 นี้ เป็นต้นไป
ทั้งนี้ จังหวัดสมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่มีรายงานการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นที่แรกและมีการระบาดมากที่สุด จึงได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินการตาม 5 มาตรการสำคัญ จนสามารถกำจัดปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรนำไปจำหน่ายให้กับโรงงานปลาป่นและผู้ประกอบการเกี่ยวเนื่องได้มากกว่า 500 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดมากที่สุด
กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงจึงได้มีการนำร่องจัดตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำขึ้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ทั้งหมด 5 จุด ประกอบด้วย
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และคณะ ได้เยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำโดยสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาครได้มีการประสานในการรับซื้อปลาหมอคางดำสำหรับผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูง (สูตรไนโตรเจนสูง) จำนวน 4,000 ลิตร
โดยได้แจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ กลุ่มหมอดินอาสา กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชผัก ฝรั่ง ลำไย มะพร้าวน้ำหอม และพลู คิดเป็นพื้นที่ได้รับประโยชน์รวมกว่า 533 ไร่ อีกด้วย
"กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งเสนอปัญหาดังกล่าวเข้าเป็นวาระแห่งชาติ ยกระดับเทียบเท่าการแพระระบาดของโควิด -19 โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน เจ้าหน้าที่ของภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาคมต่าง ๆ ด้านประมง ร่วมเป็นคณะกรรมการในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ
นอกจากนี้ ยังเตรียมหารือการประกาศเขตภัยพิบัติ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ และสำหรับผู้ใดที่ฝ่าฝืนทำการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ จะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ตามประกาศกรมประมง เรื่อง ประชาสัมพันธ์ห้ามเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ