ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 ก.ค. 2567) คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มีนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) และกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาฯ ได้กำหนดให้ผู้ที่ยื่นสมัครคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ และผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติ จำนวน 2 ราย คือ
1.นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ 2.นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เข้ารับการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์เพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ ณ ห้องประชุมคณะกรรมการรถไฟฯ การรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อเวลา 13.00 น.
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ภายหลังการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์เพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ ในวันนี้ คณะกรรมการสรรหาฯ ได้คัดเลือกให้นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟคนใหม่ แทนนายนิรุฒ มณีพันธ์ ที่ครบวาระไปแล้วเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาฯ เตรียมนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯ พิจารณาเห็นชอบในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ค. 2567) ก่อนเข้าสู่กระบวนการอื่นๆ ต่อไป
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า รถไฟ และระบบราง ถือเป็นการขนส่งที่สำคัญของประเทศ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
“หากผมได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการรถไฟฯ คนใหม่ ยืนยันว่า จะช่วยพัฒนาองค์กร และระบบราง เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติต่อไป” นายวีริศ กล่าว
นายวีริศ กล่าวต่อว่า กรณีที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่า กนอ. เป็นคู่สัญญากับการรถไฟฯ จะขัดต่อข้อกำหนดหรือกฎหมาย รวมถึงเป็นบุคคลภายนอก มีความกังวลในเรื่องนี้หรือไม่นั้น ยืนยันไม่กังวล เนื่องจากผมได้ศึกษามาเป็นอย่างดีว่าไม่ขัดต่อข้อกำหนด ถึงได้เดินหน้าเข้ารับการคัดเลือกในครั้งนี้และไม่หนักใจเรื่องบุคคลภายนอก เพราะผมอยู่ที่ กนอ. ก็ได้รับความร่วมมือจากองค์กร และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
นายวีริศ กล่าวต่อว่า ขณะที่เรื่องหนี้สะสมของการรถไฟฯ ที่มีมูลค่าหลักแสนล้าน มีความกังวลหรือไม่นั้น เมื่อสมัครเข้ามาทำหน้าที่ผู้ว่าการรถไฟฯ ก็มีความมุ่งมั่นที่จะเข้ามาแก้ปัญหา เชื่อว่าทุกองค์กรก็จะมีอุปสรรคอยู่แล้ว รวมถึงการรถไฟฯ ได้มีการจัดทำแผนฟื้นฟูฯ และมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ไว้
“ในการแสดงวิสัยทัศน์วันนี้ ผมได้นำเสนอไอเดียในการแก้ไขปัญหาหนี้ต่อคณะกรรมการสรรหาฯ หากดำเนินการทั้งไอเดียของผมร่วมกับแผนฟื้นฟูฯ และสามารถทำได้ ก็เชื่อว่าในอนาคต การรถไฟฯ จะเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่มีความสำคัญและมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น” นายวีริศ กล่าว
นายวีริศ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องเร่งด่วนเมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ นั้น คือ การดำเนินงานโดยให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งถือเป็นโครงการระดับประเทศ
“ผมพร้อมเข้ามาช่วยผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับโครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ทำให้การเดินทาง และการขนส่งทางรถไฟมีความตรงต่อเวลามากยิ่งขึ้น” นายวีริศ กล่าว
นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ภายหลังการแสดงวิสัยทัศน์นั้น ผมมีความพร้อมที่จะเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ คนใหม่ 100% เนื่องจากผมทำงานที่การรถไฟฯ มากว่า 34 ปี มีประสบการณ์ในทุกสายงานของการรถไฟฯ
ทั้งนี้ในปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหาร ด้านการเดินรถ และยุทธศาสตร์ธุรกิจการเดินรถ ประกอบกับการเปิดเดินขบวนรถไฟระหว่างประเทศ เส้นทางสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ผมเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวด้วย อีกทั้งในปัจจุบันการรถไฟฯ ได้ผ่าน U-Curve หรือจุดที่ย่ำแย่มาแล้ว หลังจากประสบมานานหลาย 10 ปี ซึ่งผมในฐานะ 1 ผู้บริหาร จึงเข้าใจถึงการขนส่งระบบรางและทราบถึงแผนงานของการรถไฟฯ เป็นอย่างดี
นายอวิรุทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา แม้การรถไฟฯ อาจจะล่าช้าไปบ้าง แต่หลังจากนี้จะต้องเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมทางรูปแบบธุรกิจ (Business Model) โดยเฉพาะการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) มากขึ้น เนื่องจากการรถไฟฯ ไม่ต้องดำเนินการทุกอย่างเอง เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย, โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)
และโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์ ตามนโยบายของรัฐบาล เป็นต้น ส่วนการสร้างทางรถไฟ และโครงการรถไฟทางคู่นั้น ถือเป็นอาชีพของการรถไฟฯ ที่ต้องทำอยู่แล้ว
ที่ผ่านมาการรถไฟฯ มีรายได้หลักจากการขนส่งผู้โดยสาร แต่หลังจากนี้จะต้องมุ่งเน้นสร้างรายได้จากการขนส่งสินค้ามากขึ้น สะท้อนจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเดิมเมื่อ 10 ปีที่แล้ว การรถไฟฯ มีรายได้จากการขนส่งสินค้าปีละประมาณ 1,500 ล้านบาท แต่ในปัจจุบันมีรายได้ปีละ 2,200 ล้านบาท รวมทั้งมุ่งเน้นสร้างรายได้จากการเปิดเดินขบวนรถไฟท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นถึงโอกาส และได้รับความนิยมจากผู้โดยสาร โดยเฉพาะวัยเกษียณที่มีกำลังจ่ายสูง
นอกจากนี้ในอนาคตจะขยายการให้บริการขบวนรถไฟ KIHA จากปัจจุบัน 1 เที่ยวต่อสัปดาห์ เพิ่มเป็น 4 เที่ยวต่อสัปดาห์ และขบวนรถจักรไอน้ำ จาก 6 ครั้งต่อปี เพิ่มเป็น 12 ครั้งต่อปี