คลัง ผนึกพาณิชย์ รับซื้อ “มังคุด-ลำไย” ช่วยชาวสวน 55 ตัน

25 ก.ค. 2567 | 10:08 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2567 | 10:10 น.

คลัง ผนึกพาณิชย์ รับซื้อ “มังคุด-ลำไย” ช่วงผลไม้ออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค.67 ดูแลชาวสวนกว่า 55 ตัน ลดปริมาณผลผลิตล้นตลาด

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 7 แห่ง เพื่อพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกมังคุดและลำไยในช่วงที่ผลผลิตล้นตลาดรวมกว่า 55 ตัน

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะร่วมกันช่วยรับซื้อผลผลิตมังคุดและลำไยจากเกษตรกร โดยมีเป้าหมายจะรับซื้อมังคุดประมาณ 29 ตัน และลำไยประมาณ 26 ตัน และกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน จะช่วยเหลือในส่วนของการจัดส่งผลผลิตผลไม้ดังกล่าว

สำหรับการดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังได้หารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อพิจารณาแนวทางขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง ปี 2567 และกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานงานมายังกระทรวงการคลังเกี่ยวกับฤดูการผลิตผลไม้สำคัญที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2567

และมีแนวโน้มที่เกษตรกรอาจประสบปัญหาด้านราคาในช่วงที่ผลผลิตกระจุกตัว ได้แก่

  • มังคุด (ภาคใต้)
  • ลำไย (ภาคเหนือ)

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จึงขอความร่วมมือกระทรวงการคลังในการช่วยดูดซับผลผลิตผลไม้ในช่วงดังกล่าว ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการรักษาระดับเสถียรภาพด้านราคา ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงได้จัดประชุมร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 เพื่อขอความร่วมมือสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้ช่วยรับซื้อผลผลิตมังคุดและลำไยจากเกษตรกรในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อลดปริมาณผลผลิตที่ล้นตลาด

“ผลการประชุมคาดว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะสามารถรับซื้อมังคุดและลำไยจากเกษตรกรในช่วงดังกล่าวได้ประมาณ 55 ตัน ประกอบด้วย มังคุด 29 ตัน และลำไย 26 ตัน นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในจะร่วมช่วยเหลือเกษตรกรในส่วนของการจัดส่งผลผลิตให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ”

สำหรับการดำเนินการในครั้งนี้เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดและลำไย และทุกภาคส่วนที่ร่วมกันในวันนี้คาดหวังว่า การช่วยรับซื้อผลผลิตมังคุดและลำไยจากเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก จะช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตที่ล้นตลาด พยุงราคาผลไม้ ยกระดับรายได้ให้แก่เกษตรกร และก่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป

ทั้งนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 7 แห่ง ได้แก่

  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
  • ธนาคารออมสิน
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์
  • ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
  • ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
  • ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
  • บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม