เจาะแผน “ BEM-CK” ลุยประมูลสารพัดโปรเจ็กต์ สายสีส้มดัน Backlog พุ่ง 3 แสนล้าน

26 ก.ค. 2567 | 01:00 น.

เจาะบิ๊กโปรเจ็กต์ในมือ BEM -CK แสนล้าน คาดเห็นรายได้ปี 68 ชัด หลังคว้าสัมปทานสายสีส้ม ดัน Backlog พุ่ง 3 แสนล้าน เดินหน้าลุยประมูลสารพัดโปรเจ็กต์ดึงงานเข้าพอร์ตต่อเนื่อง

KEY

POINTS

  • เจาะบิ๊กโปรเจ็กต์ในมือ  BEM-CK แสนล้าน คาดเห็นรายได้ปี 68 ชัด
  • หลังคว้าสัมปทานสายสีส้ม ดัน Backlog พุ่ง 3 แสนล้าน
  • เดินหน้าลุยประมูลสารพัดโปรเจ็กต์ดึงงานเข้าพอร์ตต่อเนื่อง  

การคว้างานสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีส้ม ของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM หนึ่งในบริษัทลูกของ บริษัทช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ผู้รับเหมาเบอร์ 1 ของไทย และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง ซึ่งจะสร้างรายได้และผลกำไรในอนาคต ที่ประเมินว่าไม่ต่ำกว่า1แสนล้านบาท ยังไม่รวมสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีม่วง โครงการทางพิเศษ(ทางด่วน)และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่เป็นพันธมิตรร่วมกับเครือซีพี

 ล่าสุดเมื่อวันที่24 กรกฎาคมที่ผ่านมา CK รายงานผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ได้ลงนามสัญญาจ้างงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และสัญญาจ้างงานจัดหาระบบรถไฟฟ้าสายสีส้ม กับ BEM ในฐานะผู้รับสัมปทาน จำนวน2 สัญญารวมมูลค่า 1.11 แสนล้านบาท และคาดว่าจะเร่งเปิดให้บริการเดินรถสายสีส้มช่วงตะวันออกได้ในปี2571 และช่วงตะวันตกในปี2573 ตามลำดับ

จัดหารถ 2 สาย

นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ประธานกรรมการบริหารบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และรองประธานกรรมการบริหารบริษัทช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากบริษัทได้ลงนามสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ร่วมกันแล้ว เบื้องต้นการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) นับจากวันที่ 31 กรกฎาคม -1 สิงหาคมนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ 

“สายตะวันตกจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี ซึ่งตามแผนสายตะวันตกจะเปิดให้บริการภายในกลางปี 2573 ขณะที่สายตะวันออก จะเปิดให้บริการเดินรถภายในปี 2571 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน” นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าว

สำหรับแผนเงินลงทุนรวมกว่า 1.4 แสนล้านบาท เบื้องต้น BEM ได้จัดเตรียมเงินกู้วงเงินประมาณ 1.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้สำหรับก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก 90,000 ล้านบาท และสำหรับงานระบบรถไฟฟ้า 30,000 ล้านบาท ควบคู่ไปกับเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทฯ และแหล่งเงินทุนอื่นๆ เช่น หุ้นกู้

 ด้านการจัดหาติดตั้งระบบรถไฟฟ้านั้นปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ผลิตเพื่อสั่งซื้อรถไฟฟ้าแบบล็อตใหญ่รวม 53 ขบวน แบ่งเป็น รถไฟฟ้าที่ใช้ในสายสีส้ม 32 ขบวน และรถไฟฟ้าสำหรับบริการในโครงการสายสีน้ำเงินเพิ่มเติมอีก 21ขบวน โดยบริษัทให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยเป็นลำดับแรก

 “ขณะนี้ BEM ได้คัดเลือกบริษัทผู้ผลิตไว้ประมาณ 2 ราย คือ บริษัทผู้ผลิตจากประเทศเยอรมันและญี่ปุ่นเป็นหลัก คาดว่าจะได้บริษัทผู้ชนะภายใน 2 เดือน” นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าว 

ถกสัมปทาน “สายสีม่วงใต้”

นายพงษ์สฤษดิ์  ให้สัมภาษณ์ต่อว่า ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างที่มีความคืบหน้าไปมากแล้ว หากภาครัฐเร่งสรุปแผนการเดินรถในโครงการฯนี้ ทางบริษัทมีความพร้อมเข้าไปติดตั้งระบบรถไฟฟ้า วงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท ปัจจุบันรฟม.อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการเดินรถ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

ดัน Backlog พุ่ง 3 แสนล้าน

นายณัฐวุฒิ  ตรีวิศวเวทย์  กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK กล่าวว่า บริษัทได้รับงานว่าจ้างจาก BEM ในงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก บางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และจัดหาติดตั้งระบบรถไฟฟ้าสำหรับทั้งโครงการ รวมวงเงิน 1.2 แสนล้านบาท จากเดิมที่มีงานในมือ (Backlog) ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ทำให้ Backlog ของบริษัทเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 3 แสนล้านบาท คาดว่าจะมีรายได้ปี 2567 ประมาณ 3.4-3.5 หมื่นล้านบาทต่อปี

 “สาเหตุที่การคาดการณ์รายได้ปี 2567 ไม่มาก เนื่องจากการลงนามสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้มเพิ่งดำเนินการได้ไม่นาน ทำให้รายได้ไม่ชัดเจนมากนัก ซึ่งจะต้องรอในปี 2568 ที่คาดว่าจะมีรายได้ที่ชัดเจนเพิ่มขึ้น”
 

ลุยประมูลสารพัดบิ๊กโปรเจ็กต์

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการขนาดใหญ่ครึ่งปีหลังปี 2567 ที่บริษัทจะได้งานใหม่เพิ่มมาจาก BEM  เช่น โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) หรือ Double Deck วงเงินลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าการเจรจากับภาครัฐจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ 

นอกจากนี้ยังมีหลายโครงการที่บริษัทมีความสนใจและพร้อมเข้าร่วมประมูลโครงการฯ เช่น โครงการส่วนต่อขยาย ด้านทิศตะวันตก (West Expansion) สนามบินสุวรรณภูมิ,โครงการก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) สนามบินสุวรรณภูมิ ,รถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ฯลฯ

เจาะแผน “ BEM-CK”  ลุยประมูลสารพัดโปรเจ็กต์ สายสีส้มดัน Backlog พุ่ง 3 แสนล้าน

ดันพื้นที่เชิงพาณิชย์

 นายณัฐวุฒิ  กล่าวต่อว่า บริษัทมีแผนจะหารายได้จากร้านค้าในสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งใช้รูปแบบ Metro Mall เหมือนกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการหารายได้จากสื่อโฆษณาในสถานีและภายในขบวนรถเป็นหลักก่อน

 นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์จะต้องเดินควบคู่ไปกับการเดินรถไฟฟ้าเหมือนกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่ช่วยสร้างกำไรให้กับบริษัท ทั้งนี้จะต้องพิจารณาจากปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการด้วย
 
“ในช่วงที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเชื่อว่าจะเกิดการพัฒนาเมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นการก่อสร้างคอนโดหรือการพัฒนาสิ่งต่างๆรอบพื้นที่ใกล้เคียงรถไฟฟ้าสายดังกล่าว”