ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้ บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญาจ้าง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก บางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และจัดหา ติดตั้งระบบรถไฟฟ้าทั้งโครงการ
ส่วนสายตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี มีกำหนดแล้วเสร็จ ภายใน 3 ปี 6 เดือน ซึ่ง BEM มั่นใจว่าจะสามารถเปิดให้บริการส่วนนี้ได้ก่อนกำหนดอย่างแน่นอน
ขณะที่สายตะวันตก มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 6 ปี โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี นับจากเริ่มเปิดให้บริการช่วงตะวันออก
“BEM มีความพร้อมที่จะดำเนินโครงการตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล โดยในส่วนของการก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก BEM มีพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง CK ที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน"
ทั้งนี้ CK ได้จัดเตรียมทีมงานและเครื่องจักรอุปกรณ์พร้อมเข้าดำเนินงานได้ทันที จึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถดำเนินงานได้แล้วเสร็จตามกำหนดการ อย่างมีคุณภาพและให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยสูงสุด
นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ประธานกรรมการบริหารบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพและรองประธานกรรมการบริหารบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ส่วนการจัดหา ติดตั้งระบบรถไฟฟ้านั้นปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ผลิตเพื่อสั่งซื้อรถไฟฟ้าแบบล็อตใหญ่รวม 53 ขบวน แบ่งเป็น
รถไฟฟ้าที่ใช้ในสายสีส้ม 32 ขบวน และรถไฟฟ้าสำหรับบริการในโครงการสายสีน้ำเงินเพิ่มเติมอีก 21ขบวน โดยบริษัทให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยเป็นลำดับแรก เห็นได้จากในโครงการที่ผ่านมาบริษัทเลือกใช้ผู้ผลิตจากประเทศเยอรมันและญี่ปุ่นเป็นหลัก
สำหรับเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นกว่า 1.4 แสนล้านบาท BEM ได้จัดเตรียมเงินกู้วงเงินประมาณ 1.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้สำหรับก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก 90,000 ล้านบาทและสำหรับงานระบบรถไฟฟ้า 30,000 ล้านบาท ควบคู่ไปกับเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทฯ และแหล่งเงินทุนอื่นๆ เช่น หุ้นกู้
ทั้งนี้บริษัทฯ คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารในปีแรกของการให้บริการช่วงตะวันออก จะมีประมาณ 1.2 แสนคนต่อวัน และเมื่อเปิดตลอดเส้นทางคาดว่าจะมี 3 แสนคนต่อวัน สำหรับค่าโดยสารนั้นจะเริ่มต้นที่ 17- 44 บาท
ดร.สมบัติ กล่าวต่อว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่ดีของ BEM มีกำไรเติบโตจากการบริหารโครงการสัมปทานที่มีอยู่ทั้งรถไฟฟ้าและทางพิเศษ หลังจากกำไรที่เคยลดลงไปเมื่อช่วงโควิด-19 ตอนนี้กลับคืนมาแล้ว และยังทำกำไร New High ในทุกปีๆ จากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น
ประกอบกับการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ และต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ผลประกอบการของบริษัทฯ เติบโตอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้การได้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มถือเป็น New S-Curve ให้กับ BEM ช่วยเพิ่มความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หนุนรายได้ให้กับสัมปทานตัวเดิมอย่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
เพราะจะส่งผู้ใช้บริการเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่เปิดการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันออกนั้นจะมีผู้โดยสารประมาณ 80% เชื่อมเข้าสู่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทันที อีกทั้งยังทำให้เกิดการบริหารต้นทุนได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับขนาดของธุรกิจ (Economy of Scale) และทำให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด