เปิดร่างสัญญาร่วมทุน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” 1.4 แสนล้านบาท

17 ก.ค. 2567 | 07:36 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2567 | 07:42 น.

เปิดร่างสัญญาร่วมทุน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” 1.4 แสนล้านบาท ปักหมุด 18 ก.ค.นี้ รฟม.-BEM จับมือลงนามสัญญา หลังครม.ไฟเขียว พร้อมปรับแผนใหม่เลื่อนเปิดให้บริการเร็วขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานวันนี้ (16 ก.ค.นี้) ภายหลังมติครม. มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนท์-มีนบุรี (สุวิทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท โดยกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะจัดพิธีลงนามสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูลบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM โดยจะเริ่มลงนามสัญญาภายในวันพฤหัสบดีที่ 18 ก.ค.นี้ เวลา 14.00 น.หลังจากนั้นเอกชนสามารถดำเนินการเข้าพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯได้ทันที

 

ส่วนประเด็นการจัดหารถมาให้บริการนั้นได้เร็วกว่าแผนนั้น ในส่วนของตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะเลื่อนเปิดให้บริการเร็วขึ้นภายในเดือน ม.ค.2571 จากเดิมภายในเดือนพ.ค. 2571

 

ขณะที่การเปิดให้บริการส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ –ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย พร้อมตลอดทั้งเส้นทาง จะเปิดให้บริการภายในกลางปี 2573 จากเดิมภายในเดือนพ.ย.2573

 

สำหรับเงื่อนไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ระบุว่า รฟม.จะเป็นผู้รับผิดชอบการค่างานโยธาช่วงตะวันตก โดยชำระเป็นสกุลเงินบาทให้แก่ผู้ร่วมลงทุนตามเงื่อนไขและวิธีการที่กำหนดในสัญญา

 

ทั้งนี้ผู้ร่วมลงทุนตกลงแบ่งเงินรายได้ให้รฟม.ในระยะที่ 2 ของสัญญา จำนวน 10,000 ล้านบาท ตามที่ปรากฎในสัญญา เมื่อผู้ร่วมลงทุนมีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) จากการดำเนินโครงการฯเกินกว่า 9.75% ผู้ร่วมลงทุนตกลงแบ่งเงินตอบแทนให้ รฟม. (ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามเงื่อนไขและวิธีการที่กำหนดในสัญญา

 

ทั้งนี้ในร่างสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้มระบุอีกว่า กรณีการเปลี่ยนตัวคู่สัญญา หากอำนาจในโครงการฯถูกโอนไปยังหน่วยงานของรัฐอื่น ผู้ร่วมลงทุนต้องยอมรับหน่วยงานของรัฐดังกล่าวนั้นเป็นคู่สัญญาแทนที่รฟม.

 

โดยผู้ร่วมลงทุนจะต้องไม่โอนสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาให้บุคคลอื่น เว้นแต่ได้รับความยินยอมล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจากรฟม.

ด้านหลักประกันสัญญา การค้ำประกัน เงื่อนไขในการคืนหรือริบหลักประกันสัญญา ซึ่งหลักประกันสัญญาสำหรับงานในระยะที่ 1 เป็นจำนวน 4,500 ล้านบาท

 

โดยรฟม.จะคืนหลักประกันดังกล่าวให้ผู้ร่วมลงทุนเมื่องานในระยะที่ 1 แล้วเสร็จและสามารถเริ่มการบริการที่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งสาย  ส่วนหลักประกันในระยะที่ 2 เป็นจำนวน 200 ล้านบาท โดยรฟม.จะคืนหลักประกันสัญญาฉบับนี้เมื่อผู้ร่วมลงทุนพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญานี้แล้ว 

 

นอกจากนี้ในร่างสัญญายังระบุอีกว่า หากมีข้อพิพาทให้เจรจากันเพื่อยุติข้อพิพาทโดยฉันมิตรในกรณีที่ไม่ได้ข้อยุติ คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจนำเรื่องขึ้นสู่ศาลไทยที่มีเขตอำนาจ

 

ที่ผ่านมาผลการเจรจาระหว่างรฟม.และ BEM ได้ข้อสรุปว่า กรณีการปรับเพิ่มเงินผลตอบแทนให้รฟม.นั้น  BEM แจ้งว่าไม่สามารถปรับเพิ่มให้ได้ เนื่องจากโครงการให้ผลตอบแทนการลงทุนต่ำและมีความเสี่ยงสูงที่ปริมาณผู้โดยสารจะไม่เป็นไปตามประมาณการ 

 

โดย BEM ยืนยันว่าหากทดสอบระบบร่วมล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดภายในเดือนมี.ค. 2569 BEM ยินดีรับค่าใช้จ่ายให้แก่รฟม.ประมาณ 40-50 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้ BEM พร้อมปฏิบัติตามร่างสัญญาร่วมลงทุนฯตาม RFP 

 

ส่วนกรณีการปรับลดเงินสนับสนุนค่างานโยธา เบื้องต้น BEM ไม่สามารถปรับลดเงินสนับสนุนค่างานโยธาได้ เพราะค่าก่อสร้างที่เสนอมีความเหมาะสมและต่ำกว่าประมาณการของรฟม. ทั้งที่ในปัจจุบันต้นทุนค่าก่อสร้างได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น ค่าน้ำมัน ค่าแรงเมื่อเทียบกับค่าก่อสร้างที่รฟม.ประมาณการไว้ตั้งแต่ปี 2561 
 

นอกจากนี้ BEM ยินดีลดอัตราค่าโดยสารเป็นเวลา 10 ปี อัตราค่าโดยสารปีแรก 15-44 บาท โดยปรับตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) ทุกๆ 2 ปี

 

นับจากวันที่เปิดให้บริการส่วนตะวันออก โดยรัฐไม่ต้องชดเชยหรือสนับสนุนหลังจากนั้นจึงกลับไปใช้ค่าโดยสารตามสัญญา ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนหรือภาระการสนับสนุนของรัฐกว่า 13,000 ล้านบาท

 

สำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เอกชนผู้ชนะการประมูลจะได้รับสิทธิก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม)

 

รวมถึงงานเดินรถไฟฟ้าตลอดสาย บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุนรวมกว่า 1.4 แสนล้านบาท โดย รฟม.ได้เปิดประมูลครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2565 มีผู้ซื้อซองประมูล 14 ราย และมีผู้ยื่นซอง 2 กลุ่ม คือ

 

 1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท

 

2.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับ บริษัทขนส่งอินช็อน (Incheon Transit Corporation) ผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินประเทศเกาหลีใต้ เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตามรฟม.ได้ประกาศให้ BEM ชนะการประมูลเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2565 เนื่องจาก BEM ผ่านเกณฑ์ด้านคุณสมบัติและเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐสุทธิ (NPV) -78,287.95 ล้านบาท โดยมาจากการการหักลบระหว่างส่วนที่เอกชนจะตอบแทนให้รัฐ กับเงินที่เอกชนขอให้รัฐช่วย ซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด