มัดรวมผลงาน พม. 10 เดือน : เพิ่มเบี้ยเด็ก-คนชรา ระบบสวัสดิการต้องไม่ล่มสลาย

29 ก.ค. 2567 | 08:33 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ค. 2567 | 09:25 น.

ท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. Wrap-up ผลงาน 10 เดือน ยกเครื่อง 1300 ตั้ง ศูนย์ ศรส.รับเรื่องร้องทุกข์ - Up skill Re skill คนพิการ ลุ้นเพิ่มเงินเด็กแรกเกิด-เบี้ยคนชรา ห่วง ระบบสวัสดิการล่มสลาย-ถังแตก ลุ้น แปรกลุ่มเปราะบาง 20 ล้านเสียง เป็นแต้มต่อการเลือกตั้ง

KEY

POINTS

  • ท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. Wrap-up ผลงาน 10 เดือน “กระทรวงพม.ไม่ใช่กระทรวงสังคมสงเคราะห์”
  • ยกเครื่องสายด่วน 1300 ตั้ง ศูนย์ ศรส.รับเรื่องร้องทุกข์ - Up skill Re skill คนพิการ
  • เปิดโซลูชั่น เพิ่มเงินเด็กแรกเกิด-เบี้ยคนชรา ห่วง ระบบสวัสดิการล่มสลาย-ถังแตก 
  • แปรกลุ่มเปราะบาง 20 ล้านคน เป็นคะแนนเสียง - แอ่นอกรับการงานไม่เคยกลัว การเมืองสู้ไม่ได้  

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงที่ต้องรับผิดชอบกลุ่มเปราะบาง เด็กแรกเกิด คนพิการ-ผู้สูงอายุ กว่า 20 ล้านคน 

ท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลงาน 10 เดือนที่ผ่านมา

หลังต้องแบกภาระผู้สูงอายุและคนพิการ 15 ล้านคน เด็กแรกเกิด - 6 ขวบ 4.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรไทยทั้งหมด 

มัดรวมผลงาน พม. 10 เดือน : เพิ่มเบี้ยเด็ก-คนชรา ระบบสวัสดิการต้องไม่ล่มสลาย

พม.ไม่ใช่กระทรวงสังคมสงเคราะห์

วราวุธ ฉายภาพใหญ่-งานกระทรวง พม. ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งวันแรก Wrap-up ผลงาน 10 เดือนที่ผ่านมาในกระทรวงที่ดูแลกลุ่มเปราะบางกว่า 20 ล้านคน  

มิติใหม่ ๆ ที่ได้ทำไปมากพอสมควร บรรทัดฐานแรก ที่เป็น bottom line ตนกำลังเปลี่ยนทัศนคติข้าราชการในกระทรวงพม.และประชาชนที่มีต่อกระทรวงพม.

“กระทรวงพม.ไม่ใช่กระทรวงสังคมสงเคราะห์ ไม่ใช่กระทรวงที่มาทำบุญทำทาน”

กระทรวงพม.มีหน้าที่สร้างให้สังคมมีความเข้มแข็ง สร้างศักยภาพให้ประชาชนแต่ละกลุ่ม โดยอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบาง ทำอย่างไรให้มีความเข้มแข็ง ดึงศักยภาพของคนพิการขึ้นมา ดึงศักยภาพที่มีอยู่แล้วของคนสูงอายุออกมาใช้ เด็กได้ใช้ความสามารถของตัวเองอย่างเต็มที่  

อีกมิติคือ การจัดตั้งศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) บูรณาการทุกกรมเข้ามาอยู่ในศูนย์ ศรส. โดยให้ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 อยู่ภายใต้ ศูนย์ ศรส. 

“วันนี้เวลาคนโทรเข้ามาที่ 1300 ไม้จิ้มไฟยันเรือรบ ขอให้เกี่ยวกับกระทรวงพม. แม้จะไม่เกี่ยว ศูนย์ ศรส.จะประสานให้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็น two way communication”

Up skill-Re skill คนพิการ 

อีกเรื่องหนึ่งที่กระทรงพม.ทำ คือ การเสริมศักยภาพคนพิการโดยการลงนามเอ็มโอยูกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กับอีก 5 มหาวิทยาลัย ครอบคลุมภาคเหนือ กลาง อีสานและใต้ ได้แก่

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี)

โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งมหาวิทยาลัย 1 แห่ง สามารถนำคนพิการ 60 คน รวม 6 แห่ง 360 คน มาฝึกอาชีพ 

ระยะต่อไปจะต่อยอดโดยการทำเอ็มโอยูกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวง อว. ใช้อาชีวะ เทคนิค สารพัดช่าง มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อ Up skill-Re skill คนพิการอีกนับแสนคน ให้คนพิการได้รับการจ้างงานด้วยความสามารถ ไม่ใช่เพราะความพิการ 

“คนพิการของไทย ไม่แพ้ต่างชาติ หน้าที่ของกระทรวงพม. คือ ดึงเอาศักยภาพออกมาใช้ประโยชน์กับประเทศไทย”

เรื่องคนสูงอายุ ได้ริเริ่มโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน ผ่านการอบรมนักบริบาลฯ 240 ชั่วโมง เช่น ทักษะไอที ไม่ให้ผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ความรู้ในการเข้าสู่สังคมสูงวัย เพื่อไปทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่ โดยได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 10,000 บาท 

มัดรวมผลงาน พม. 10 เดือน : เพิ่มเบี้ยเด็ก-คนชรา ระบบสวัสดิการต้องไม่ล่มสลาย

ลุ้นเงินเด็กแรกเกิด 1,200 บาท 

เรื่องเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ปริมาณเด็ก เวลาเราพูดถึงเด็ก ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึง 6 ขวบ วันนี้เรามีจำนวนเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ขวบ ประมาณ 4.5 ล้านคน ซึ่งแต่ละปีใช้งบประมาณราว 16,000 – 18,000 ล้านบาทต่อปี

เรามีสวัสดิการสำหรับเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปี คนละ 600 บาทต่อเดือน แต่เราไม่ได้ให้ถ้วนหน้า ขณะนี้ที่ได้รับประมาณ 2.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 55 %  

ระหว่างให้เด็กแรกเกิดจนถึง 6 ขวบ ทั้งหมด 4.5 ล้านคน ถ้วนหน้าคนละ 600 บาท หรือให้เด็กจำนวนคนเท่าเดิม คือ 2.5 ล้านคน แต่เพิ่มจำนวนเงินเป็น 1,200 บาท เขาอยากได้ 600 บาทถ้วนหน้า 

“ผมเห็นต่างจากคำว่า ถ้วนหน้า เพราะบางครอบครัวมีสถานะพอที่จะดูแลได้ แน่นอนว่า เป็นสิทธิของเด็กทุกคนที่พึงจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐโดยเท่าเทียมกันและทั่วถึง แต่ศักยภาพในการดูแลของแต่ละครอบครัวต่างกันเยอะ”

อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ต้องทำหนังสือเวียนไปถามทุกหน่วยงาน เช่น สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ ถ้าจะขอให้จ่ายถ้วนหน้ามีงบประมาณเพียงพอหรือไม่ 

โอกาสเบี้ยคนชรา 1,000 บาทถ้วนหน้า  

ขณะที่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปัจจุบัน ได้รับเป็นขั้นบันได อายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับ 600 บาท อายุ 70 ปีขึ้นไป 700 บาท อายุ 80 ปีขึ้นไป 800 บาท และอายุ 90 ปีขึ้นไปได้รับ 1,000 บาท แต่ไม่ได้รับถ้วนหน้า
ปัจจุบันมีผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป จำนวน 13.5 ล้านคน แต่มีผู้ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุประมาณ 10 ล้านคน คิดเป็นเงินงบประมาณที่รัฐต้องสนับสนุนปราว 66,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 67

“วันนี้มีคนเรียกร้องว่า อยากจะให้ผู้สูงอายุได้ถ้วนหน้าทั้ง 13.5 ล้านคน อยากจะให้ได้คนละ 1,000 บาทเท่ากัน ถ้าจะทำแบบนี้ วันนี้เลย เงินที่เราจะต้องใช้จะเพิ่มจาก 66,000 ล้านบาท เป็น 1.56 แสนล้านบาทต่อปี”

ทั้งนี้ เบี้ยผู้สูงอายุที่ให้แบบขั้นบันได ไม่ถ้วนหน้าในปัจจุบัน อีก 5 ปีจากนี้ไป งบประมาณที่ใช้จาก 66,000 ล้านบาทต่อปี จะเพิ่มไปเป็น 1.2 แสนล้านบาทต่อปี แต่ถ้าให้เดือนละ 3,000 บาท ถ้วนหน้า อีก 5 ปีจากนี้ไปจะต้องใช้ 5.6 แสนล้านบาทต่อปี 

ถ้าถามว่า อยากจะให้หรือไม่ 1,000 บาทถ้วนหน้า 3,000 บาทถ้วนหน้า อยากให้มาก แต่ต้องดูความเป็นไปได้ในสถานะทางการเงินการคลังของประเทศด้วยว่า สามารถให้ได้หรือไม่

“การช่วยที่ถูกต้องของกระทรวง พม. คือ ทำให้คนในสังคมไทยสามารถอยู่ในได้ด้วยศักดิ์ศรีและเกียรติที่เท่ากัน ไม่ใช่ให้เท่ากันทั้งหมด เบี้ยผู้สูงอายุให้คนที่จำเป็นต้องใช้ดีกว่าให้ถ้วนหน้า” 

ระบบสวัสดิการล่มสลาย-ถังแตก 

ประเทศไทยไม่ได้มีกระทรวงพม.กระทรวงเดียว ยังมีกระทรวงอื่นอีกมากที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่งบประมาณมาจากภาษีของประชาชน 

ถ้าคนเสียภาษีมีคนอยู่เพียงจำนวนเดียว แต่คนต้องการใช้เยอะขึ้น ประกอบกับปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ และปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อยปีละประมาณ 5 แสนคน แปลว่าคนจะออกจากอายุทำงานมากขึ้น คนที่จะเข้าสู่วัยทำงานน้อยลง

“คนทำงาน gen-y gen-z จะกลายเป็นเดอะแบก ที่ต้องแบกคนสูงอายุไว้หนักขึ้น ๆ ถ้าเป็นอย่างนี้อยู่ แล้วมีการใช้จ่ายขนาดนี้อยู่ มันก็มีความเสี่ยงที่ระบบสวัสดิการของรัฐจะล่มสลาย หรือ ถังแตก ไม่มีตังค์จ่าย เหมือนบางเมืองในยุโรป เกิดขึ้นแล้ว” 

มัดรวมผลงาน พม. 10 เดือน : เพิ่มเบี้ยเด็ก-คนชรา ระบบสวัสดิการต้องไม่ล่มสลาย

แปร 20 ล้านเสียง แต้มต่อการเลือกตั้ง ? 

วันนี้ เข้าใจงานของกระทรวงพม.แล้ว เรื่องงานไม่เคยกลัว ใครบอกกระทรวงเล็ก ใครบอกกระทรวงใหญ่ ใหญ่เท่ากันหมด สำคัญเท่ากันทั้งนั้น กระทรวงพม.ดูคน 20 ล้านคน ใหญ่ แต่จะหาจุดให้เจอและบริหารให้ได้หรือไม่ ขับเคลื่อนองค์กรได้หรือไม่

“หาเสียงกับหาคะแนนไม่เหมือนกัน ไปไหนคนนิยมชมชอบรัฐมนตรีท็อป เก่ง ดี แต่ไม่เลือก ไม่รู้ว่าทำไม เดี๋ยวนี้เวลาไปเจอใครแล้วบอกว่าชอบคุณท็อป เลือกผมด้วยนะครับ เลือกวราวุธด้วย” 

“เปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงได้หรือไม่ ต้องคอยลุ้นกันต่อ ต้องใช้ไสยศาสตร์การเมืองหน่อย จุดธูปจุดเทียนบอกเล่าเจ้าที่เจ้าทางก่อน ผมอยู่ที่ไหนเรื่องงานไม่เคยกลัว แต่เรื่องการเมืองเรายังสู้เขาไม่ได้ ไม่เก่ง ถ้าเก่งคงได้สส.เยอะกว่านี้”รมว.พม.ที่สวมหมวกหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา-พรรค 10 เสียงทิ้งท้ายอย่างอารมณ์ดี