“ภูมิธรรม”สั่ง สกมช. เช็กความปลอดภัย คุมเข้มระบบดิจิทัลวอลเล็ต

02 ส.ค. 2567 | 04:35 น.
อัพเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2567 | 04:50 น.

“ภูมิธรรม” สั่งการ สกมช. ปฏิบัติการเชิงรุกเร่งยกระดับป้องกันประชาชน เตรียมพร้อมเช็กความปลอดภัย คุมเข้มระบบดิจิทัลวอลเล็ต

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ  ในฐานะกรรมการและเลขานุการการประชุม กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ครั้งที่ 2/2567   นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการ ได้มีการรายงานผลการปฏิบัติของศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติและรายงานเหตุการณ์ภัยคุกคามและผลการดำเนินการเหตุการณ์ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

“ภูมิธรรม”สั่ง สกมช. เช็กความปลอดภัย คุมเข้มระบบดิจิทัลวอลเล็ต

ในห้วง 6 เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งผลการปฏิบัติการเกี่ยวกับแอปดูดเงินที่สามารถสกัดเงินไม่ให้เงินไหลออกจากบัญชีเหยื่อแบบเรียลไทม์ หรือ สามารถอายัดบัญชีได้ในทันที ซึ่งที่ผ่านมานั้น สกมช. สามารถช่วยประชาชนมากกว่า 65 ราย กว่า 120 บัญชี รวมมูลค่าความเสียหายบางรายมากถึง 6 ล้านบาท

ขานรับนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่ให้ยกระดับภัยคุกคามจากแอปดูดเงินเป็นภัยไซเบอร์ระดับร้ายแรง ภายใต้ พ.ร.บ. ไซเบอร์ฯ

นอกจากนี้ สกมช. ยังให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยและความรัดกุมสำหรับระบบโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ( Digital Wallet) ไม่ว่าจะเป็นระบบการลงทะเบียน ระบบการยืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิ์ ก่อนใช้งานจริงจะต้องมีการตรวจสอบระบบให้รอบคอบ ซึ่งจะต้องปลอดภัยมากที่สุด ตามแผนงานที่รัฐบาลกำหนดไว้

นายประเสริฐจันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า จากการที่ประชุม กกม. ได้ประกาศยกระดับจัดให้ภัยคุกคามทางไซเบอร์เกิดจากแอปดูดเงิน เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง และมีข้อสั่งการให้ สกมช. ร่วมกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider : ISP) รวมถึงสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรงอย่างทันท่วงที อาทิ ระงับการเชื่อมต่อไปยังแอปดูดเงินตัดวงจรการเชื่อมต่อระบบการควบคุมของมิจฉาชีพ และหยุดการโอนเงินของมิจฉาชีพผ่านระบบ Mobile Banking

รวมทั้งการป้องกันประชาชนไม่ให้ถูกหลอกติดตั้งแอปดูดเงิน ก่อนเกิดความเสียหายแก่ประชาชน เป็นปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว พร้อมสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในการใช้บริการทางการเงินออนไลน์ให้ประชาชน

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี/ประธาน กมช. เน้นย้ำว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการดูแลพี่น้องประชาชน โดยเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้สั่งการให้ สกมช. ปฏิบัติการเชิงรุกภายหลังจากที่ได้มีการดำเนินยกระดับจัดให้ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดจากแอปดูดเงิน เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง เพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างรวดเร็ว พร้อมสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในการใช้บริการทางการเงินออนไลน์ให้ประชาชน รวมถึงเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตให้มีความมั่นคงปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์

ซึ่งการประชุมคณะกรรมการฯ ยังให้ความเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระบบคลาวด์ พ.ศ. .... เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนนโยบาย Cloud First Policy ตามนโยบายการใช้คลาวด์ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานของภาครัฐให้มีความมั่นคงปลอดภัย

“ภูมิธรรม”สั่ง สกมช. เช็กความปลอดภัย คุมเข้มระบบดิจิทัลวอลเล็ต

พลอากาศตรี อมร  ชมเชย กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการประชุมครั้งนี้นอกจากจะมีการสั่งการเกี่ยวกับแอปดูดเงินแล้ว ที่ประชุมยังให้ความเห็นชอบการเห็นชอบในบันทึกความร่วมมือระหว่าง สกมช. กับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้ และยกระดับทักษะความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และยังเป็นการขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง สกมช. และหน่วยงานอื่นต่อไป

รวมทั้ง สกมช. ต้องบังคับใช้ให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการตามพระราชบัญญัติ และกฎหมายฉบับรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศมีหน้าที่ป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ตามประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐาน ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

ตัวอย่างกรณีเหตุการณ์ Crowdstrike วิกฤตจอฟ้า ที่เกิดขึ้น พบว่ามีผลกระทบกับบางระบบงานในประเทศไทยบ้าง แต่เนื่องจากที่ผ่านมา สกมช. ได้มีการฝึก และเตรียมความพร้อมตลอดจนส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานมีการจัดทำแผนรับมือ ทำให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานในวงกว้าง