ปักธง ก.ย.นี้ ปิดจ็อบแก้สัญญา “ไฮสปีด 3 สนามบิน”

06 ส.ค. 2567 | 07:41 น.
อัพเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2567 | 07:48 น.

“สกพอ.” เปิดแผนคืบหน้าแก้สัญญา “ไฮสปีด 3 สนามบิน” เล็งชงบอร์ด กพอ.ไฟเขียวข้อสรุปภายในกลางก.ย.นี้ ลุ้นลงนามเอกชนภายในปี 67 วอนเอกชนวางแบงก์การันตี 4 หมื่นล้านบาท ปิดความเสี่ยงในอนาคต

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้า การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียด เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดสัญญา โดยอยู่ในขั้นตอนแก้ไขถ้อยคำในสัญญา

คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จเพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ภายกลางเดือน ก.ย.2567 ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน

ทั้งนี้หลังจากผ่านความเห็นชอบจาก กพอ.แล้วจะเสนอรายละเอียดสัญญาที่มีการปรับแก้ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการตรวจสอบ

 

เมื่อตรวจแล้วเสร็จจึงจะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาสัญญาฉบับใหม่ หากเห็นชอบจะเริ่มลงนามในสัญญากับเอกชน เบื้องต้นภาพรวมดำเนินการยังอยู่ในกรอบ คาดว่าจะลงนามกับเอกชนได้ภายในปี 2567 

หลังจากนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะสามารถส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) เริ่มก่อสร้างในปลายปี 2567 ไม่เกินต้นปี 2568

นายจุฬา กล่าวต่อว่า ขณะที่การวางหลักประกันทางการเงินที่เอกชนต้องดำเนินการนั้น เอกชนขอให้รัฐเร่งจ่ายเงินสนับสนุนงานโยธา โดยมีประเด็นเพิ่มเติม เนื่องจากช่วงหลังก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเสร็จจะต้องมีการจัดหาระบบและตัวรถไฟฟ้า การทดสอบเพื่อให้บริการตามกำหนด

ซึ่งเอกชนจะต้องวางหลักประกันเพิ่มเติม งานระบบ O&M อีกประมาณ 40,000 ล้านบาท เพื่อความเชื่อมั่นในส่วนของการเดินรถว่าจะไม่มีความเสี่ยง หากมีปัญหาในอนาคต รัฐมีเงินในการจัดหารถเอง ซึ่งมีการเจรจาให้ทางเอกชนสามารถนำหลักประกันในส่วนของค่าก่อสร้างที่ยังไม่ได้เบิกคืนมาวางในส่วนของระบบ O&M ได้

ทั้งนี้เอกชนต้องวางแบงก์การันตี ทั้งหมด 3 ส่วน คือ 1. แบงก์การันตีในส่วนของค่าสิทธิร่วมลงทุนแอร์พอร์ตเรลลิงก์จำนวน 10,671.09 ล้านบาท 2. แบงก์การันตีเต็มวงเงินค่าก่อสร้างหรือในส่วนของเงินฝ่ายรัฐร่วมลงทุน วงเงิน 119,425 ล้านบาท 3. แบงก์การันตี งานระบบและตัวรถไฟฟ้า วงเงิน 40,000 ล้านบาท
 

สำหรับการแก้ไขสัญญาที่ได้ข้อยุติแล้วได้แก่ ปรับการผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดย รฟท.ได้รับค่าสิทธิฯ ครบจำนวน 10,671.09 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสของ รฟท.อีกจำนวน 1,060 ล้านบาท รวมเป็น 11,717.09 ล้านบาท 

โดยให้ผ่อนจ่าย 7 งวด แบ่งเป็นงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย ซึ่ง กพอ.ได้เห็นชอบและรายงาน ครม.รับทราบไปก่อนหน้านี้แล้ว

อย่างไรก็ตามการยกเลิกเงื่อนไขออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) จากเดิมที่ระบุให้ผู้รับสัมปทานฯ ต้องขอส่งเสริมการลงทุนกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก่อน รวมไปถึงเรื่องการส่งมอบพื้นที่ TOD มักกะสันขนาด 150 ไร่ โดยเอกชนต้องจดทะเบียนสิทธิการเช่าถอนสภาพลำรางสาธารณะก่อน