พาณิชย์ เล็งยืมโมเดลจีน จำกัดจำนวน – มูลค่าซื้อสินค้าจากต่างประเทศ

13 ส.ค. 2567 | 08:20 น.
อัพเดตล่าสุด :13 ส.ค. 2567 | 08:39 น.

โฆษกรัฐบาล แย้มแผนคุมซื้อ-ขายสินค้าจากต่างประเทศ หลังกระทบธุรกิจไทย เล็งดึงโมเดลจีน อาจจำกัดจำนวนสินค้าที่จะนำเข้าต่อคนต่อปี จำกัดมูลค่าของสินค้า คาดพาณิชย์ เตรียมแนวทางสรุปเร็ว ๆ นี้

กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้มอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาตรการป้องกันและปราบปรามธุรกิจขายสินค้าจากต่างประเทศ ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่นำเข้ามาขายในประเทศไทย

ล่าสุด นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงรายละเอียดหลังการประชุมครม. วันนี้ (13 สิงหาคม 2567) ว่า นอกเหนือจากที่นายกฯ มอบหมายแล้ว ยังมีมาตรการบางอย่าง ซึ่งขณะนี้ได้รับทราบข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ว่า กำลังพิจารณาแนวทางในลักษณะเดียวกับการแก้ไขปัญหาการค้าขายผ่านอี-คอมเมิร์ซของประเทศจีน แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะนำมาใช้แก้ปัญหาของประเทศไทยด้วยหรือไม่ โดยมีแนวทางดังนี้

  1. การนำเข้าสินค้าผ่านออนไลน์เข้ามายังประเทศจีน ต้องขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง
  2. การนำเข้าสินค้ามานั้น จะมีมาตรการจำกัดจำนวนสินค้าที่จะนำเข้าต่อคนต่อปีว่าได้กี่ชิ้น
  3. การนำเข้าสินค้ามานั้น จะมีมาตรการจำกัดมูลค่าของสินค้าออนไลน์

"ทั้งสามข้อคือจีนได้ทำ และได้ยินมาว่ากระทรวงพาณิชย์ของไทยกำลังพิจารณาว่าอาจจะต้องนำมาใช้ด้วยหรือไม่ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เคาะ เป็นเพียงข้อมูลเพิ่มเติมเท่านั้น" นายชัย ระบุ 

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า สำหรับข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการออกมาตรการป้องกันและปราบปรามธุรกิจขายสินค้าจากต่างประเทศ ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่นำเข้ามาขายในประเทศไทย ซึ่งได้มอบหมายในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ ได้มอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ หารือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนสิงหาคม 2567 นี้

สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีด้วยกัน 7 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งทั้งหมดจะต้องออกมาตรการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ดังนี้

  1. การตรวจสอบการจดทะเบียนธุรกิจการค้าและใบอนุญาตต่างๆ เพื่อดำเนินการกับธุรกิจผิดกฎหมายหรือสีเทาจากต่างประเทศ 
  2. การตรวจสอบสินค้าว่าเป็นไปตามมาตรฐาน เช่น มอก. และ อย. เพื่อปกป้องผู้บริโภค โดยสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเจ้าภาพ ประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
  3. การตรวจสอบใบอนุญาตนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและการชำระอากรขาเข้าของผูประกอบการ 
  4. การตรวจสอบใบอนุญาตการตั้งโรงงาน โดยกรมโรงงาน

อย่างไรก็ตาม นายกฯ ยังขอคำนึงถึงข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ และดูแลผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการอย่างสมดุล รวมทั้งหาทางสนับสนุนและพัฒนาให้ผู้ประกอบการ SME ไทยสามารถปรับตัวและแข่งขันได้ และขอให้สรุปข้อหารือ เพื่อนำเสนอต่อ ครม. ภายในเดือนนี้ต่อไป 

เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อร้องเรียนจากภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เกี่ยวกับธุรกิจขายสินค้าทางออนไลน์และออฟไลน์จากต่างประเทศได้เข้ามาค้าขายอย่างผิดปกติในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการทำธุรกิจของคนไทย