KEY
POINTS
การรถไฟแห่ประเทศไทย (รฟท.)เร่งรัดก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ต่อเนื่อง 1 ในนั้น คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ทั้ง 14 สัญญา โดยวางเป้าหมายเปิดให้บริการภายในปี 2571
นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) ตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ระยะ(เฟส)ที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนรวม 179,412 ล้านบาท
แบ่งงานก่อสร้างโยธาเป็น 14 สัญญา ปัจจุบันภาพรวมของโครงการ ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 คืบหน้าอยู่ที่ 71.36% ผลงาน 34.97% ล่าช้า 36.39% ตามแผนคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2571
ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. รับทราบหลักการปรับกรอบวงเงินค่าจ้างของสัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา เพิ่มเติมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,052 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% โดยวงเงินค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นยังอยู่ภายในกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติคงเหลือ 10,863 ล้านบาท
จากภายใต้กรอบวงเงินที่ครม.อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 ภายในกรอบวงเงิน 179,412 ล้านบาท และขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงงานจากรูปแบบการก่อสร้างคันทางระดับดินเป็นรูปแบบทางยกระดับ (elevated) ระยะทาง 7.85 กม. ตามแนวทางที่ 4 ช่วงโคกกรวด-ภูเขาลาด
“ส่วนสาเหตุที่มีการปรับกรอบวงเงินสัญญานี้ เนื่องจากภายหลังที่รฟท.มีการลงนามสัญญาก่อสร้างกับเอกชนผู้ชนะการประมูลนั้น พบว่าเป็นแนวทางเลือกที่มีมูลค่าก่อสร้างที่สูง รวมทั้งประชาชนในพื้นที่มีการคัดค้าน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาคณะกรรมการรฟท.มีมติเห็นชอบการก่อสร้างในแนวทางที่ 4 ช่วงโคกกรวด-ภูเขาลาด โดยเป็นรูปแบบทางยกระดับตลอดแนวเส้นทาง” นายอนันต์ กล่าว
ทั้งนี้หลักการปรับกรอบวงเงินค่าจ้างของสัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา เบื้องต้นคณะกรรมการรฟท.มีความเห็นให้ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้างดำเนินการปรับราคาดัชนีกลางในปัจจุบันให้สอดรับกับแผนการปรับกรอบวงเงินในครั้งนี้
ก่อนนำกลับมาเสนอต่อคณะกรรมการรฟท.อีกครั้งภายในเดือนกันยายน 2567
หากที่ประชุมฯ เห็นชอบ หลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป ส่งผลให้สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม.วงเงิน 7,750 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้า SPTK (บ.นภาก่อสร้าง ร่วมกับบริษัทรับเหมาประเทศมาเลเซีย) ผลงาน 9.41%
โดยมีระยะเวลาก่อสร้างเพิ่มขึ้น 36 เดือน หรือสิ้นสุดภายในวันที่ 25 มีนาคม 2571 จากเดิมที่สัญญาสิ้นสุดในวันที่ 25 มีนาคม 2568
ด้านความคืบหน้าสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการรอลงนามสัญญากับบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ในเครือบริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL นั้น
เบื้องต้นรฟท.ได้ส่งรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) ในพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟอยุธยาฉบับปรับปรุงเพิ่มเติมต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา
“สาเหตุที่รฟท.มีการส่งรายงาน HIA ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม เนื่องจากที่ผ่านมาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ดำเนินการปรับปรุงรายงานฉบับดังกล่าวเพื่อให้สอดรับกับแผนที่วางไว้” นายอนันต์กล่าว
ขณะที่ 1 สัญญา คือ สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. วงเงิน 9,207 ล้านบาท อยู่ระหว่างการรอลงนามสัญญา โดยเอกชนยอมรับเงื่อนไขการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนร่วมกับไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินแล้ว
ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณาเห็นชอบร่างแก้ไขสัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ก่อนลงนามสัญญาต่อไป
ส่วนอีก 2 สัญญา ที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ประกอบด้วย สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง - ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. วงเงิน 362 ล้านบาท และสัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 3,114 ล้านบาท
สำหรับความคืบหน้าสัญญาที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 9 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดงและช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,348 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้า ITD ผลงาน 0.52%
สัญญา 3-2 ช่วงอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. วงเงิน 4,279 ล้านบาท โดย บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการ ผลงาน 74.06%
สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 21.60 กม. วงเงิน 9,838 ล้านบาท โดย บจ.ไทย เอ็นยิเนียร์ และอุตสาหกรรม ผลงาน 52.73%
สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โครกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. วงเงิน 9,848 ล้านบาท โดยบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ผลงาน 77.82%
สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. วงเงิน 10,570 ล้านบาท โดย บมจ.บริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น ผลงาน 0.66%
สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 11,525 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้า CAN (บจ.เอ.เอสแอสโซศซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964), บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด ผลงาน 37.50%
สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ระยะทาง 2.3 กม. วงเงิน 6,573 ล้านบาท โดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ผลงาน 16.57%
สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. วงเงิน 9,429 ล้านบาท โดย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ผลงาน 5.23%
สัญญา 4-7 สระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. วงเงิน 8,560 ล้านบาท โดย บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง ผลงาน 56.67% และสัญญา 2.3 งานออกแบบจัดหาและติดตั้งระบบรางฯ ผลงาน 0.92%