สศช. เคาะรายงาน GDP ไทย ไตรมาส 2 ปี 2567 เตรียมแถลงจันทร์นี้

17 ส.ค. 2567 | 06:15 น.
อัพเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2567 | 06:18 น.

เลขาธิการ สศช. หารือคณะอนุกรรมการติดตามภาวะเศรษฐกิจ รับทราบรายงาน GDP ไทย ไตรมาส 2 ปี 2567 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ตลอดทั้งปี ก่อนแถลงข้อมูลทั้งหมดในวันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2567 นี้

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามภาวะเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับ ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2567 และแนวโน้มปี 2567 รวมทั้งพิจารณาความเหมาะสมของข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ล่าสุดของไทย

ทั้งนี้จากการหารือ สศช. แจ้งว่า จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการมาประกอบการจัดทำรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2567 และ แนวโน้มเศรษฐกิจ ปี 2567 ซึ่ง เลขาธิการ สศช. จะเป็นผู้ประกาศรายละเอียดทั้งหมดต่อสาธารณชนในวันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2567 เวลา 9.30 น. ต่อไป

สำหรับคณะอนุกรรมการติดตามภาวะเศรษฐกิจ เป็นคณะอนุกรรมการชุดใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อทำหน้าที่ในการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการจัดทำรายงานวิเคราะห์สถานการณ์และประเด็นข้อเสนอแนะแนวนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

ทั้งนี้ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2567 สศช. แถลงก่อนหน้านี้ว่า ขยายตัว 1.5% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 1.7% ในไตรมาสที่สี่ของปี 2566 ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 2.0 - 3.0% โดยมีค่ากลางการประมาณการ 2.5% ถือว่า ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัว 1.9% ในปี 2566 

โดยในช่วงที่เหลือของปี 2567 สศช. ประเมินว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจาก การเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง การขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุน และ การกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก

ทั้งนี้คาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.5% และ 3.2% ตามลำดับ ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.0 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.1 – 1.1% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.2% 

อย่างไรก็ตามในส่วนของปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในปี 2567 นั้น ยังต้องติดตามปัจจัยสำคัญหลายเรื่อง ซึ่งจะต้องรอความเห็นของ สศช. ว่าจะประเมินออกมาอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นด้านการเมืองภายในประเทศ หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการตั้งรัฐบาลใหม่ในช่วงรอยต่อของงบประมาณ เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลใหม่ว่าจะมีทิศทางอย่างไรด้วย