รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้คืบ รฟม.ปิดเบี่ยงจราจร เจาะอุโมงค์ แยกบางขุนพรหม  

18 ส.ค. 2567 | 08:37 น.
อัพเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2567 | 08:50 น.

รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เปิดให้บริการ ปี70 รฟม.เร่งเต็มสูบ ปิดเบี่ยงจราจร เจาะอุโมงค์สร้างสถานีใต้ดิน แยกบางขุนพรหม  24 ส.ค. – 15 ต.ค.67 แนะเลี่ยงเส้นทาง ลดปัญหารถติด

 

 การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟม.) เร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้  ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)  เดือนกรกฎาคม 2567 ความก้าวหน้างานโยธา 38.22% และมีเป้าหมายก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดให้บริการภายในปี2570

ปิดเบี่ยงจราจร

ล่าสุดรฟม. แจ้งปิดเบี่ยงจราจรเพิ่มเติมบนถนนสามเสน บริเวณแยกบางขุนพรหม เพื่อให้ กิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-พีแอล ผู้รับจ้างออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ - ผ่านฟ้า

 

 

มีความจำเป็นต้องปิดเบี่ยงจราจรเพิ่มเติม บนถนนสามเสน บริเวณแยกบางขุนพรหม เพื่อดำเนินการก่อสร้าง JET GROUT กำแพงสถานี บริเวณสถานีบางขุนพรหม

ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม – 15 ตุลาคม 2567 เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป ตลอด 24 ชั่วโมง มีผลให้ถนนสามเสนบริเวณปิดเบี่ยง สามารถสัญจรได้ 1 ช่องจราจร

 การปิดเบี่ยงจราจรเพื่อดำเนินงานดังกล่าว อาจทำให้ผู้ใช้เส้นทางไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและอาจมีเสียงดังรบกวนพื้นที่บริเวณใกล้เคียงในวันเวลาดังกล่าว ดังนั้น หากไม่มีความจำเป็น โปรดหลีกเลี่ยงเส้นทาง และ รฟม. ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้

โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีระยะทางรวม 23.6 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน ระยะทาง 13.6 กิโลเมตร จำนวน 10 สถานี และทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง 10 กิโลเมตร จำนวน 7 สถานี

แนวเส้นทางจากสถานีเตาปูน (สถานียกระดับ) ซึ่งเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล วิ่งไปตามถนนสาย ง 8 เป็นโครงสร้างยกระดับข้ามคลองบางซื่อ

จากนั้นลดระดับลงเป็นโครงสร้างใต้ดินลอดใต้กรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนทหาร ผ่านแยกเกียกกาย เข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านรัฐสภาแห่งใหม่ โรงเรียนราชินีบน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ

เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศฯ ผ่านแยกผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินกลาง เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดาฯ เข้าสู่ถนนจักรเพชรลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก

ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ลอดใต้แยกมไหสวรรย์ และเปลี่ยนเป็นทางยกระดับวิ่งไปตามถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกประชาอุทิศ สะพานภูมิพล 1 ผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดที่ครุใน จ.สมุทรปราการ

ทำเลศักยภาพที่น่าจับตาจะเป็นบริเวณรอบสถานี โดยเฉพาะสถานีร่วม สถานีสำคัญของรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ซึ่งปัจจุบันมีดีเวลลอปเปอร์เข้าไปปักหมุดขึ้นโครงการคอนโดมิเนียมจำนวนมาก

ทำเลที่น่าสนใจ  ดีดีพร็อพเพอร์ตี้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ ได้แก่ บริเวณโดยรอบสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นต้นสายและจุดเชื่อมต่อ รวมทั้งสถานีผ่านฟ้าและสถานีสามยอดซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังสายสีน้ำเงิน หากมองหาบ้านนอกเมือง สถานีบางปะกอกและสถานีราษฎร์บูรณะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากมีอาคารจอดแล้วจรที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางเข้าเมืองสำหรับคนมีรถ

บริเวณโดยรอบสถานีเตาปูน สถานีวงเวียนใหญ่ และช่วงถนนสุขสวัสดิ์-ราษฎร์บูรณะเป็นทำเลหลักที่น่าสนใจสำหรับคอนโดมีเนียม เพราะสามารถก่อสร้างอาคารสูงได้และราคายังไม่ปรับตัวสูงจนเกินไป

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีสถานีที่เป็นทำเลศักยภาพใหม่ที่กำลังจะมีความสำคัญ และปัจจุบันมีโครงการที่น่าสนใจหลายโครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง