ปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นมีผลต่อการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยทั้งด้านบวกและด้านลบ อย่างไร “นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้ฉายภาพผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ”ไว้อย่างชัดเจน
นายนฤตม์ กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนในไทยมีแนวโน้มที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริม มีจำนวน 1,412 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุน 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 ในจำนวนตัวเลขดังกล่าว การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม 889 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 83 เงินลงทุนรวม 325,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16
ทั้งนี้กว่าร้อยละ 80 เป็นการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบริษัทในทวีปเอเชีย ประเทศ / เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ 90,996 ล้านบาท จีน 72,873 ล้านบาท ฮ่องกง 39,553 ล้านบาท ญี่ปุ่น 29,987 ล้านบาท และไต้หวัน 29,453 ล้านบาท ส่วนลำดับรองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ อินโดนีเซีย และไอร์แลนด์
“ภาพรวมการลงทุนดังกล่าว สะท้อนถึงศักยภาพและพื้นฐานที่ดีของประเทศไทย ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อนโยบายรัฐบาลและทิศทางการพัฒนาประเทศที่มีความชัดเจน รวมทั้งผลจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอที่ได้ปรับปรุงให้สอดรับกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประกอบกับกระแสการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์”
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับ ช่วงครึ่งปีแรก คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 263,185 ล้านบาท ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า รองลงมา ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เกษตรและแปรรูปอาหาร ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และดิจิทัล (กราฟิกประกอบ) นอกจากนี้ ยังมีกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือขยะที่มีจำนวนมากถึง 255 โครงการ เงินลงทุนรวม 72,475 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูง ล้วนเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอให้ความสำคัญ และเป็นสาขาที่ไทยมีความพร้อม
สำหรับปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในแต่ละสาขา เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เกิดจากการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตและปรับโครงสร้างซัพพลายเชนของบริษัทชั้นนำระดับโลก ท่ามกลางความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้า ประกอบกับความพร้อมของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และซัพพลายเชนที่ครบวงจร
ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นสาขาที่มีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในรถยนต์ทุกประเภท ทั้ง ICE, HEV, PHEV และ BEV รวมทั้งชิ้นส่วน ทั้งเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก, ดิจิทัล โดยเฉพาะการลงทุนดาต้า เซ็นเตอร์ และคลาวด์ เซอร์วิสขยายตัวต่อเนื่อง ตามแนวโน้มการลงทุนขององค์กรต่างๆ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล โดยเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรม เช่น Generative AI และ Cloud Computing ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานสะอาด และการเติบโตของดีมานด์ในประเทศ
ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา มีการลงทุนในหลายกิจการที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น กิจการดาต้า เซ็นเตอร์ 3 โครงการ เงินลงทุนรวม 24,289 ล้านบาท, กิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) 31 โครงการ เงินลงทุนรวม 39,732 ล้านบาท, กิจการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 38,182 ล้านบาท, กิจการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือระบบออโตเมชั่น 69 โครงการ เงินลงทุนรวม 10,271 ล้านบาท เป็นต้น
“การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีแนวโน้มที่ดี ประเทศไทยยังคงได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนให้เป็นหมุดหมายสำคัญของการลงทุนในภูมิภาคนี้ คาดว่าทั้งปี 2567 จะมีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน ทั้งปัจจัยพื้นฐานที่ดีของประเทศไทย บวกกับแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตและการปรับโครงสร้างซัพพลายเชนอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้า ซึ่งประเทศไทยมีจุดยืนที่เป็นกลาง ไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร”
นอกจากนี้ การที่บริษัทชั้นนำทั่วโลกล้วนตั้งเป้าหมายเข้าสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero Emission ทำให้เกิดความต้องการด้านพลังงานสะอาด ซึ่งไทยมีศักยภาพด้านแหล่งพลังงานสะอาดอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค และอยู่ระหว่างการจัดทำกลไกการจัดหาพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในระยะยาว