การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ในปลายปีนี้ รวมถึงสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ปะทุขึ้นรอบใหม่ โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนสั่งขึ้นภาษีสินค้าจีน 20-100% ในหลายสินค้า ทั้งนี้หลายฝ่ายมีความกังวลหากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีรอบใหม่ สงครามการค้า สงครามการลงทุน และสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีนอาจทวีความรุนแรงขึ้น และอาจส่งผลกระทบมาถึงไทยทางด้านการค้า และการลงทุน ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในช่วงเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนได้มีความรุนแรงมากขึ้น และขยายวงไปถึงภูมิภาคอื่น เช่น ยุโรป ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ มองหาแหล่งลงทุนใหม่ที่มีความเสี่ยงต่ำ ที่ไม่ใช่ประเทศคู่ขัดแย้ง และมีความมั่นคงปลอดภัย
ทั้งนี้ทิศทางการลงทุนจึงมุ่งสู่ภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งประเทศไทย โดยการลงทุนจากทั้งจีน สหรัฐฯ และยุโรป ในไทยเพิ่มสูงขึ้นมาก ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า และกิจการดาต้าเซ็นเตอร์
สำหรับการลงทุนจากสหรัฐฯ ในไทย ตั้งแต่ปี 2566 จนถึงเดือนมิถุนายน 2567 มีจำนวน 79 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 101,000 ล้านบาท โดยเฉพาะโครงการสำคัญ ๆ ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น การลงทุนในโครงการเซมิคอนดักเตอร์ของบริษัท Analog Devices ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ของสหรัฐฯ และการลงทุน Data Center ของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon Web Service (AWS) ที่ประกาศลงทุนในไทยกว่า 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2580 โดยในเฟสแรก ได้ลงทุนสร้าง Data Center แล้ว 3 แห่ง เงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท
รวมทั้ง Google และ Microsoft ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนลงทุน Data Center ในไทยแล้ว โดยอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดร่วมกับบีโอไอและทีมงานของรัฐบาล
"การเลือกไทยเป็นฐานการลงทุนหลักของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทย และศักยภาพของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนได้เป็นอย่างดี"
อนึ่ง การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในไทยช่วง 6 เดือนแรกปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 889 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 83 เงินลงทุนรวม 325,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 เป็นการลงทุนจากบริษัทในทวีปเอเชีย
ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ 90,996 ล้านบาท จีน 72,873 ล้านบาท ฮ่องกง 39,553 ล้านบาท ญี่ปุ่น 29,987 ล้านบาท และไต้หวัน 29,453 ล้านบาท
ส่วนลำดับรองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ อินโดนีเซีย และไอร์แลนด์ สำหรับการลงทุนของสิงคโปร์ที่สูงขึ้น เกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ของโครงการที่มีบริษัทแม่เป็นสัญชาติจีนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า