นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า หลังจากกอช.ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน สำหรับการเดินหน้า สลากเกษียณ หรือ “หวยเกษียณ”นั้น กอช.ได้รับข้อเสนอของประชาชนที่ต้องการขยายอายุ ให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี สามารถซื้อหวยเกษียณได้ ซึ่งกอช.จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 61-70 ปี สามารถเข้ามาซื้อหวยเกษียณได้ต่อไป
นอกจากนี้ กอช.ได้กำหนดเงื่อนไขให้ประชาชนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ต้องซื้อหวยเกษียณแล้วเก็บเงินออมไว้ในระบบกอช. 10 ปี หากระหว่างทางเสียชีวิต สามารถมอบมรดกให้กับทายาทได้ ทั้งนี้ กำหนดเงื่อนไขผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ที่เข้ามาซื้อหวยเกษียณนั้น จะไม่ได้รับเงินสมทบจากรัฐบาล ตามกฎหมายของกอช. ที่ระบุไว้ว่ารัฐบาลจะสมทบเงินออมให้กับประชาชนที่มีอายุ 15-60 ปีเท่านั้น
“หลังจากมีการจัดตั้งครม.ชุดใหม่แล้วเสร็จ กอช.จะเสนอครม. อนุมัติร่างกฎหมายหวยเกษียณอีกครั้ง และจะขยายอายุให้ประชาชน 61-70 ปี สามารถลุ้นรางวัลได้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการออมเช่นเดียวกัน เมื่อครม.เห็นชอบแล้วขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการแก้ไขกฎหมาย คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ของปี 2568”
สำหรับเงินที่ประชาชนมาซื้อหวยเกษียณนั้น กอช.จะเก็บวงเงินเหล่านั้นไปลงทุนต่อ โดยเน้นผลตอบแทนความเสี่ยงต่ำ เพื่อให้เงินต้นของสมาชิกยังอยู่ ฉะนั้น การซื้อหวยเกษียณจึงไม่การันตีผลตอบแทนการลงทุน แต่เงินต้นที่ซื้อจะยังอยู่แน่นอน ขณะที่เงินรางวัลของหวยเกษียณนั้น ประชาชนสามารถถอนออกมาใช้จ่ายได้เลย ไม่ได้บังคับให้มีการออมต่อจนกว่าจะครบกำหนด
ส่วนการออกผลิตภัณฑ์หวยเกษียณจะเป็นการจูงใจให้ประชาชนอดออมมากยิ่งขึ้น ด้วยการลุ้นรางวัลทุกวันศุกร์ มูลค่ารางวัลงวดละ 15 ล้านบาท แบ่งเป็น รางวัลที่ 1 จำนวน 5 รางวัล รางวัลละ 1 ล้านบาท และรางวัลที่ 2 จำนวน 10,000 รางวัล รางวัลละ 1,000 บาท ซึ่งคาดว่าการดำเนินการครั้งนี้จะจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิกกอช.ได้กว่า 5 ล้านคน จากปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 2.6 ล้านคน
ทั้งนี้ กอช. ได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ลงนามต่ออายุ MOU ส่งเสริมความรู้ทางการเงินกับ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7
โดยการลงนาม MOU ครั้งนี้ มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี ผนึกกำลังขยายองค์ความรู้ให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน แรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระ และประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ทางการเงิน สามารถบริหารจัดการหนี้ วางแผนการออมได้อย่างเหมาะสม และมีเงินไว้ใช้จ่ายเพียงพอในยามเกษียณ