จากที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้แสดงวิสัยทัศน์ “Vision for Thailand 2024 “ทิศทางเศรษฐกิจจะขับเคลื่อนไปอย่างไร ทิศทางการเมืองไทยนับต่อจากนี้” จัดโดยสถานีโทรทัศน์ Nation TV (22 ส.ค. 2567)
โดยสาระสำคัญส่วนหนึ่ง ได้พูดถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้ทันกับโลก การสร้าง Eco-system สำหรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น EV โดยสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV)จากจีนมาใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวาการผลักดันเรื่องดาต้าเซ็นเตอร์ กรีนเอ็นเนอยี(พลังงานสะอาด)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่มีสมาชิกครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เรื่องต่าง ๆ ข้างต้นอยู่ในกรอบและนโยบายที่เป็นทิศทางเดียวกัน และมองเห็นภาพเดียวกันกับที่สภาอุตสาหกรรมฯ กำลังเร่งผลักดันอยู่ และได้พูดมาตลอด
ที่สำคัญคือการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมทั้งระบบเพื่อทรานส์ฟอร์มจากอุตสาหกรรมยุคเก่า หรือยุคดั้งเดิมที่เริ่มล้าสมัย ไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย โดยร่วมกับบีโอไอในการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้ออำนวยเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทย และนักลงทุนต่างชาติ (FDI)ในการลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ตอบโจทย์เทรนด์ของโลก ช่วยลดโลกร้อน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น บิ๊กดาต้า คลาวด์เซอร์วิส พลังงานสะอาด รถอีวี สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยในอนาคต
ขณะเดียวกัน ส.อ.ท.ยังเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในกลุ่ม BCG (Bio- Circular-Green) ที่ ส.อ.ท. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และแนวทางขับเคลื่อนผู้ประกอบการสู่ Smart SMEs ผ่าน 4GO คือ 1.Go digital & AI 2.Go innovation 3.Go global และ 4.Go Green
อย่างไรก็ดีในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ ส.อ.ท.จะเร่งผลักดัน “4 Go” อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอีกครึ่งหนึ่งของสมาชิก ที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เปราะบาง มีกำไรตํ่า ใช้แรงงานสูง ที่ก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากโควิดที่เพิ่งคลี่คลาย ปัจจุบันยังต้องเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจที่ผันผวน และเผชิญกับสินค้าจากต่างประเทศที่มีราคาตํ่าเข้ามาดัมพ์ตลาด ทำให้แข่งขันลำบาก
“วิสัยทัศน์ Vision for Thailand ของคุณทักษิณเรื่องการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เพื่อนำสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตใหม่ ๆ อยู่ในแนวทางเดียวกันกับที่ทางสภาสภาอุตสาหกรรมได้มีแผนการยกระดับหรือเปลี่ยนผ่าน ทำให้เห็นภาพเดียวกันซึ่งก็เห็นพ้องตรงกันกับภาคเอกชนทุกประการ”
ส่วนเรื่องขอให้จีนมาเป็นพาร์ทเนอร์ใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) พวงมาลัยขวา ส่วนพวงมาลัยซ้ายผลิตที่จีนตามเดิม เรื่องนี้ก็เห็นด้วย หากจีนสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนในไทย รวมถึงในประเทศอื่น ไทยและจีนจะได้ประโยชน์ร่วมกัน
ขณะที่ในเรื่องดาต้า เซ็นเตอร์ที่เวลานี้มีต่างชาติเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอของไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรม/กิจการที่เป็นเป้าหมายใหม่ของไทย (New S-Curve) และเป็นเทรนด์ และเป็นความต้องการของโลก จากอุตสาหกรรมดั้งเดิมของไทยเริ่มไม่เป็นที่ต้องการ และเริ่มล้าสมัย จากมีคู่แข่งขันมาก ขณะที่อุตสาหกรรมที่ไทยควรจะต้องก้าวไปข้างหน้า เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตหรือ Next-Gen ที่สร้างเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมฯ ได้กำหนดเป้าหมายและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่หลายฝ่ายอยากเห็น