เมื่อไม่นานมานี้ อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้ออกมาแสดงวิสัยทัศน์อนาคตของประเทศไทยว่าควรจะเดินไปอย่างไรต่อจากนี้ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าวิสัยทัศน์ดังกล่าว เป็นเพียงความเห็นของอดีตนายก จึงไม่อาจจะระบุได้ชัดว่าเป็นทิศทางอนาคตของพรรคเพื่อไทยไปเสียทั้งหมด และความเป็นวิสัยทัศน์จึงสะท้อนความเห็นในลักษณะของ “จินตนาการ” ที่อยากจะเห็น อยากจะให้เป็น แต่จะเกิดขึ้นจริงแค่ไหนนั้น อาจจะต้องไปดูในรายละเอียดว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้ ผู้พูดยังเน้นย้ำเสมอว่าตนเองอายุมากแล้ว ไม่รู้ว่าจะเกิดภาวะสมองเสื่อม เป็นอัลไซเมอร์เมื่อไหร่ จึงอาจจะคาดหวังความต่อเนื่องในการผลักดันแนวความคิดของคุณทักษินได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น
แต่กระนั้น ก็ต้องยอมรับว่าคุณทักษิณยังคงมีพลัง และมีแนวความคิดใหม่ๆ ที่สามารถให้คำปรึกษากับทั้งตัวนายกแพทองธาร และกับพรรคเพื่อไทย รวมถึงทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจไม่มากก็น้อย จึงควรที่จะมาวิเคราะห์กันว่าในภาคอนาคตของคุณทักษินนั้น มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจ รวมถึงประเด็นอะไรที่อาจจะขาดหายไปบ้าง
โดยในความเห็นของผู้เขียนนั้น มองว่าหัวใจหลักของแนวคิดคุณทักษิณ คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแบบเอื้ออาทร โดยส่วนของคำว่า ทุนนิยม จะหมายถึง การสนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการที่มีไอเดียใหม่ๆ และการสนับสนุนการแข่งขันของภาคธุรกิจเพื่อสร้างสินค้าและบริการตอบสนองความต้องการของคนในประเทศและของโลก โดยทุนใหญ่ๆ ควรจะออกไปลงทุนในต่างประเทศให้ได้มากกว่านี้
ในขณะที่ ส่วนของคำว่า เอื้ออาทร จะหมายถึง การช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีความยากลำบาก ขาดแคลนทุนทรัพย์ ขาดแคลนความรู้ เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้จะมีนัยยะสำคัญ คือ การช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงไปยังกลุ่มคนที่เผชิญกับความยากลำบาก มากกว่าจะเป็นการช่วยเหลือทุกคน จึงต่างจากแนวคิดของพรรคสีส้มที่เสนอการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ สังคมนิยมโดยเน้นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า
ข้อเสนอหนึ่งที่สะท้อนภาพทุนนิยมแบบเอื้ออาทรได้ชัดเจนมากขึ้น คือ นโยบายภาษีเงินได้แบบติดลบ หรือ Negative Income Tax ซึ่งโดยสาระสำคัญแล้วจะเป็นนโยบายที่ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือเติมเงินให้กับคนที่มีรายได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
แต่ในขณะเดียวกันจำนวนเงินที่เติมนั้นจะขึ้นกับระดับการทำงานด้วย ทำให้คนที่ไม่ทำงานก็อาจจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเลย หรือได้น้อยมาก โดยเงินช่วยเหลือจะได้รับมากที่สุดหากทำงานได้ในระดับหนึ่งที่ภาครัฐกำหนดเท่านั้น จึงเป็นเครื่องมือที่สร้างแรงจูงใจให้แต่ละคนต้องทำงาน หรือ พึ่งพาตนเองมากขึ้น
ภาพทุนนิยมของ "ทักษิณ" เสนอให้เป็นทุนนิยมแบบสมดุล
1.สมดุลระหว่างเสรีนิยมกับการปกป้องเศรษฐกิจในประเทศ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรม EV ต้องให้ธุรกิจไทย แรงงานไทยได้รับประโยชน์ สินค้าจีนที่เข้ามาต้องแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม
2.สมดุลระหว่างการใช้กลไกตลาดกับการดำเนินการโดยภาครัฐ เช่น การเสนอให้รัฐเข้ามาช่วยอุ้มปัญหาหนี้ครัวเรือน หรือ การเสนอให้รัฐกลับมาเป็นเจ้าของรถไฟฟ้าเอกชน
3.สมดุลระหว่างการเปิดรับเศรษฐกิจใหม่ๆ กับผลกระทบต่อคนไทย เช่น การเปิดให้ต่างชาติถือครองอสังหาได้ 99 ปี แต่ภาครัฐต้องมีกลไกช่วยเหลือให้คนไทยได้เข้าถึงที่อยู่อาศัยด้วย
ทั้งนี้ หากท่านผู้อ่านได้ฟังการนำเสนอของคุณทักษิน จะพบว่ามีข้อเสนอในการผลักดันเศรษฐกิจอยู่จำนวนมาก และที่สำคัญ คือ มีหลายข้อเสนอที่ดูเหมือนว่าได้ผ่านการคิดอย่างลึกซึ้งมาพอสมควรจึงเป็นข้อเสนอที่มีประสิทธิภาพและมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น
เช่น การเสนอให้รัฐเป็นเจ้าของรถไฟฟ้าเอกชนจะใช้ค่าธรรมเนียมรถติด และการสร้างกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน การแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง ต้องใช้ทั้งเทคโนโลยี การเปิดให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้แต่ห้ามขาย และการเร่งเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่พิพาท
การเปิดเสรีภาคการเงินแต่ให้ทำเฉพาะธุรกรรมกับต่างประเทศ การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่กระทบกับคนยากจนด้วยการคืนเงินโดยอาศัยเทคโนโลยี หรือแม้แต่ การผลักดัน Soft Power ที่มีตัวอย่างในภาคปฏิบัติทำให้เห็นแนวคิดในการขับเคลื่อนที่ไปได้ไกลในหลายๆ สาขา เป็นต้น
สิ่งที่ขาดหายไปในภาพอนาคตของทักษิณ
ในความเห็นของผู้เขียน มองว่า สิ่งที่ขาดหายไปในภาพอนาคตของคุณทักษิณ มีอย่างน้อยด้วยกัน 3 ประการ คือ
1.แนวทางการผลักดันธุรกิจ SMEs อาจจะไม่ชัดเจนมากนัก โดยแม้ว่าในการบรรยายจะมีการพูดถึง SMEs อยู่บ้าง เช่น Smart SMEs หรือ ผู้ประกอบการที่มีไอเดียดีๆ แต่หากมองว่า SMEs เป็นหนึ่งในโครงสร้างที่สำคัญของภาคเศรษฐกิจ อาจจะต้องมียุทธศาสตร์ในการผลักดัน SMEs ที่ชัดเจนกว่านี้
2.ประเด็นปัญหาหนึ่งที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงเท่าใดนัก แต่เป็นปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปได้อย่างช้าๆ มาโดยตลอด คือ ปัญหาการผูกขาด และปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งทำให้ธุรกิจไทยบางส่วนไม่ต้องเผชิญกับสภาวะการแข่งขัน ไม่ต้องดิ้นรนทำวิจัยและพัฒนา ไม่ต้องสร้างนวัตกรรม ไม่จำเป็นต้องไปค้าขายในตลาดโลก รวมไปถึงไม่จำเป็นต้องออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะสามารถสร้างกำไรส่วนเกินได้ในสภาวะเดิมที่เป็นอยู่
3.ปัญหาคอร์รัปชั่น เป็นสิ่งที่กัดกร่อนเครื่องจักรทางเศรษฐกิจของไทยทุกตัว ทำให้การดำเนินงานขาดประสิทธิภาพ ไม่ได้ประสิทธิผลตามที่มุ่งหวัง ก็ไม่ได้ถูกไฮไลต์ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงเป็นความเสี่ยงที่แนวคิดไอเดียต่างๆ ที่ได้นำเสนอมาทั้งหมด อาจจะไปไม่ถึงฝั่งฝันก็เป็นเพราะปัญหาคอร์รัปชั่นนี่เอง
ท้ายที่สุด ไม่ว่าผู้อ่านจะเห็นด้วยกับภาพอนาคตของคุณทักษิณหรือไม่ก็ตาม (ซึ่งแม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็อาจจะเห็นด้วยกับบางนโยบายและไม่เห็นด้วยกับบางนโยบาย) แต่สิ่งหนึ่งที่คิดว่าสังคมไทยจะได้ คือ การได้เห็นนโยบายทางเลือกที่ชี้ถึงทิศทางอนาคตทางด้านเศรษฐกิจของไทย ซึ่งมีนัยยะต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตัวท่านเอง ใครจะชอบหรือไม่ชอบนโยบายของพรรคไหนก็สามารถเลือกกันได้ตามใจตามสิทธิของทุกคน