"บีทีเอส" จ่อดำเนินคดี หลัง "กทม." ปัดจ่ายหนี้สายสีเขียว

03 ก.ย. 2567 | 23:00 น.
อัพเดตล่าสุด :04 ก.ย. 2567 | 01:34 น.

“บีทีเอส” เดือดจ่อดำเนินคดีมาตรา 157 หลัง “กทม.-กรุงเทพธนาคม” ปัดจ่ายหนี้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว 4 หมื่นล้านบาท กระทบรัฐ-เอกชนเสียหายหนัก เผยดอกเบี้ยพุ่ง 7 ล้านบาทต่อวัน ฟากกทม.ปักธงจ่ายหนี้ก้อนแรกยึดคำสั่งศาล 1.2 หมื่นล้านรวดเดียวจบภายในพ.ย.นี้

KEY

POINTS

  •  “บีทีเอส” เดือดจ่อดำเนินคดีมาตรา 157 หลัง “กทม.-กรุงเทพธนาคม” ปัดจ่ายหนี้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว 4 หมื่นล้านบาท กระทบรัฐ-เอกชนเสียหายหนัก
  • เผยดอกเบี้ยพุ่ง 7 ล้านบาทต่อวัน
  • ฟากกทม.ปักธงจ่ายหนี้ก้อนแรกยึดคำสั่งศาล 1.2 หมื่นล้านรวดเดียวจบภายในพ.ย.นี้

รถไฟฟ้าสายสีเขียวยังมีความชุลมุนต่อเนื่อง แม้ว่าศาลปกรองสูงสุดจะตัดสินให้กรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคมหรือ เคที ต้องชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M)ให้กับ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน)หรือ BTSC ก้อนแรก 1.2 หมื่นล้านบาท ภายใน 180วัน นับตั้งแต่มีคำพิพากษาวันที่ 26 กรกฎาคม 2567

กทม.อ้างมีคดีค้างที่ป.ป.ช.

อย่างไรก็ตาม จนถึงบัดนี้กทม.ยังไม่มีการเจรจากับเอกชนเพื่อชำระหนี้ แต่กลับอ้างถึงการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปมสัญญาเดินรถขัดต่อกฎหมาย และต้องการรื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่

ซึ่งในทางกลับกัน หากปล่อยเวลาให้เนิ่นนานจะก่อให้เกิดความเสียหายตามมาจากภาระดอกเบี้ยสูงถึงวันละ 7 ล้านบาท ซึ่งเมื่อบวกต้นและดอกเบี้ยแล้วจะสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นหนึ่งในโครงการระบบขนส่งสาธารณะที่มีบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทาง รวมทั้งสิ้น 23 สถานี แบ่งเป็นสายสุขุมวิท ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ระยะทาง 17 กม.

และสายสีลม ระยะทาง 6.5 กม. ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งจัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 17-47 บาท มีกรุงเทพมหานครให้สัมปทานเอกชน 30 ปี เริ่มสัญญาวันที่ 5 ธันวาคม 2542-4 ธันวาคม 2572 หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นสัญญาจ้างบีทีเอสเดินรถ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2572-2 พฤษภาคม 2585

ขณะที่ส่วนต่อขยายที่ 1 สายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และสายสีลม ช่วงตากสิน-บางหว้า ซึ่งจัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15-62 บาท มีกทม.ว่าจ้างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เป็นผู้บริหารระบบ โดยจ้างบีทีเอสเป็นผู้เดินรถ สัญญา 30 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 2 พฤษภาคม 2585

ฟากส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งจัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15 บาทตลอดสาย มีกทม.ว่าจ้างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เป็นผู้บริหารระบบ โดยจ้างบีทีเอสเป็นผู้เดินรถ สัญญา 26 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 2 พฤษภาคม 2585

จากการก่อสร้างส่วนต่อขยายที่ 2 โดยบีทีเอสได้กู้เงินมาเพื่อการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้าเพื่อวิ่งให้บริการ โดยเป็นการเปิดให้บริการฟรีถึง 3 ปี เนื่องจาก กทม.ยังไม่ได้มีคำสั่งให้บีทีเอสเรียกเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งมีค่าจัดหารถไฟและระบบไฟฟ้า (E&M) 23,000 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) จนถึงปัจจุบัน รวม 40,000 ล้านบาท

ต่อมากทม.ได้ประกาศจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุด 65 บาทตลอดสาย กลายเป็นกระแสร้อนแรงจนถูกพับแผนการจัดเก็บค่าโดยสาร จากการแก้ปัญหาของกทม.ในยุค พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯกทม. และเคทีค้างชำระหนี้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บีทีเอสซีต้องฟ้องร้องต่อศาลปกครองหลายครั้ง

ทั้งนี้กทม.ในยุคนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯกทม.ได้เข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวโดยมีการศึกษาการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่ 2 ในอัตรา 15 บาทตลอดสาย

หลังจากนั้นได้มีการเร่งรัดเสนอต่อสภากทม.เพื่อนำงบประมาณสะสมจ่ายขาดนำมาชำระหนี้ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) วงเงิน 23,000 ล้านบาทให้กับบีทีเอส ภายหลังจากศาลปกครองมีคำสั่งให้กทม.และเคทีชำระหนี้ดังกล่าว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาในคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง (โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว) ที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องกรุงเทพมหานครกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) โดยพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 2 ราย ชำระหนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนงานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง (O&M) ร่วมกันภายในระยะเวลา 180 วันหรือภายใน 6 เดือน ประกอบด้วย

ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348.66 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยของเงินต้น 2,199.09 ล้านบาท และส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406.42 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยของเงินต้น 8,786.76 ล้านบาท

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมากทม.ชำระหนี้บางส่วนมาแล้ว แต่ปัจจุบันยังพบว่า กทม.มีหนี้สะสมอย่างต่อเนื่อง โดยแหล่งข่าวจากบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กทม.ต้องชำระหนี้แก่บีทีเอสตามคำสั่งศาลภายใน 180 วัน

ซึ่งกทม.ยืนยันว่าจะดำเนินการชำระหนี้ให้บีทีเอสเร็วกว่าที่ศาลกำหนดหรือไม่เกิน 100 วัน หากชำระหนี้ล่าช้าจะทำให้มีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

หนี้ค้างจ่าย 31,555 ล้านบาท

สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้

1.หนี้ค่าจ้างเดินรถที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งชำระ จำนวน 11,755 ล้านบาท

2.หนี้ค่าจ้างเดินรถระหว่างปี 2565-2566 จำนวนกว่า 10,000 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย ปัจจุบันบีทีเอสได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองแล้ว ซึ่งเรื่องอยู่ที่ศาลปกครองกลางพิจารณา

และ 3.หนี้ค่าจ้างเดินรถระหว่างปี 2566-ปัจจุบัน จำนวนกว่า 10,000 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย ซึ่งตามกำหนดกทม.ต้องชำระหนี้ดังกล่าวทุกวันที่ 20 ของเดือน

จากการหารือนอกรอบระหว่างกทม.และบีทีเอสนั้น เบื้องต้นกทม.ระบุว่า หนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนที่ 2 ระหว่างปี 2565-2566 ค่อยหารือร่วมกันอีกครั้ง ส่วนหนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนที่ 3 ระหว่างปี 2566-ปัจจุบัน

โดยกทม.จะนำเงินจากการจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 มาชำระหนี้ในส่วนนี้ จากเดิมที่กทม.นำเงินที่จัดเก็บค่าโดยสารจากส่วนต่อขยายที่ 1 มาชำระให้แก่บีทีเอสเท่านั้น แต่ปัจจุบันกลับไม่นำเงินจากการจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 มาชำระแก่บีทีเอส

เมื่อถามถึงสาเหตุที่กทม.บ่ายเบี่ยงไม่ยอมนำเงินจากการจัดเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายที่ 2 มาชำระแก่บีทีเอสในช่วงที่ผ่านมานั้น พบว่า กทม.ยังกังวลประเด็นที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังไม่ชี้มูลความผิด

แต่ปัจจุบันป.ป.ช.ได้มีการชี้มูลความผิดแล้ว แต่ไม่ได้ทำให้คำพิพากษาของศาลปกครองเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้หนี้ค่าจ้างเดินรถระหว่างปี 2566-ปัจจุบัน จำนวนกว่า 10,000 ล้านบาท

ขณะนี้บีทีเอสยืนยันว่า จะไม่ฟ้องร้องหนี้ดังกล่าวแล้ว แต่จะดำเนินคดีกับกทม.และเคทีตามกฎหมายมาตรา 157 เพราะไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และกฎหมาย

โดยศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้ทั้ง 2 ฝ่ายชำระหนี้แก่บีทีเอส แปลว่าสัญญานี้มีผลเดินหน้าแล้ว ซึ่งไม่มีอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลปกครองได้ หากมีการดำเนินคดีตามมาตรา 157 ทางกทม.จะต้องดำเนินการโดยหาทนายมาสู้คดีกับบีทีเอสว่าเขาไม่มีความผิด

เสียดอกเบี้ย 7 ล้านต่อวัน
 จากการเบี้ยวชำระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวของกทม.และเคที ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาครัฐอย่างมาก พบว่าเมื่อถึงกำหนดการชำระหนี้ทุกๆวันที่ 20 ของเดือน

หากไม่มีการชำระหนี้ให้แก่บีทีเอสจะต้องเสียดอกเบี้ย 8.05% หรือเสียค่าดอกเบี้ย 7 ล้านบาทต่อวัน นอกจากนี้การไม่ชำระหนี้ให้แก่เอกชนตามกำหนดยังก่อให้เกิดความเสียแก่เอกชน เพราะบีทีเอส มีค่าใช้จ่ายในการเดินรถประมาณ 800 ล้านบาทต่อเดือน ไม่รวมดอกเบี้ย 

แหล่งข่าวจากบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกลาวหากับผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งสิ้น 12 ราย ที่ทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585 นั้น ซึ่งการชำระหนี้ส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่ได้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับป.ป.ช. แต่กทม.กลับไม่ยอมชำระหนี้ส่วนนี้ให้กับบีทีเอส เรื่องนี้ไม่ใช่เหตุผลที่กทม.และเคทีจะเบี้ยวหนี้และไม่ยอมจ่ายบีทีเอส 

จากมติครม.เมื่อปี 2561 ระบุว่า กรณีที่ภาครัฐมีปัญหาเรื่องสัญญาทางปกครองหรืออนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีคำพิพากษาออกมานั้นต้องดำเนินการปฏิบัติตามนั้น แต่กทม.กลับไม่ปฏิบัติตาม ทำให้ขณะนี้ยังค้างชำระหนี้แก่บีทีเอส 

แหล่งข่าวจากป.ป.ช.กล่าวว่า ด้านความคืบหน้าการชี้มูลความผิดของป.ป.ช.นั้น ขณะนี้อัยการได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วแต่พบว่าสำนวนยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งได้มีการแจ้งกลับต่อป.ป.ช.แล้วให้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่วมกับบีทีเอสต่อไป ซึ่งตามกฎหมายระบุว่าต้องพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 90 วัน 

กทม.คาดเริ่มจ่ายหนี้พ.ย.นี้
 แหล่งข่าวจากกทม. กล่าวว่า หลังจากศาลปกครองสั่งให้กทม.และเคทีชำระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวแก่บีทีเอสนั้น ปัจจุบันกทม.อยู่ระหว่างการของบประมาณเงินสะสมจ่ายขาดมาชำระหนี้ดังกล่าว ซึ่งจะต้องเสนอต่อสภากทม.พิจารณาอนุมัติ  

\"บีทีเอส\" จ่อดำเนินคดี หลัง \"กทม.\" ปัดจ่ายหนี้สายสีเขียว
 
หากสภากทม.อนุมัติแล้วกทม.จะนำงบประมาณมาชำระแก่บีทีเอสรอบเดียวตามคำสั่งของศาลปกครอง จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเริ่มชำระหนี้ให้แก่บีทีเอสได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทั้งนี้ต้องดูขั้นตอนของสภากทม.ด้วยว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งตามกระบวนการแล้วกทม.ต้องนำเงินไปชำระที่กรมบังคับคดีเพื่อให้กรมฯนำเงินส่วนนี้ไปชำระแก่บีทีเอสต่อไป 

“ส่วนหนี้ที่ค้างชำระกับบีทีเอส จนถึงปัจจุบัน จะต้องหารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม.ก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งตอนนี้เราจะชำระเงินตามคำสั่งศาลปกครองไปก่อน ปัจจุบันกทม.มีหนี้ค้างกับบีทีเอส ซึ่งรวมกับยอดหนี้จากคำสั่งศาลในครั้งนี้อยู่ที่ 40,000 ล้านบาท” แหล่งข่าว กทม.กล่าว