รายงานข่าวจากศาลปกครอง แจ้งว่าวันศุกร์ที่ 26กรกฎาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.2226/2565ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี (ผู้ฟ้องคดี) กับกรุงเทพมหานครกับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง (โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว)
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า กรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ผิดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ตามสัญญาเลขที่ กธ.ส.006/55 ลว. 3 พฤษภาคม 2555
และส่วนต่อขยายที่ 2 ตามสัญญาเลขที่ กธ.ส.024/59 ลว. 1 สิงหาคม 2559 กรณีผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยผู้ฟ้องคดี ได้มีหนังสือ ลว. 18 กันยายน 2563
และหนังสือ ลว. 15 มกราคม 2564 ทวงถามไปยังผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ให้ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกเฉย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้อง)
ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ร่วมกันหรือแทนกันชําระเงินสด สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348,659,232.74 บาทพร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 2,199,091,830.27 บาท
และสำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406,418,719.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน จำนวน 8,786,765,195.47 บาท ตามอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ซึ่งประกาศโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับเงินกู้สกุลเงินบาทบวกร้อยละ 1 ต่อปี
นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด ณ ห้องพิจารณาคดี 12 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า กรณีศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอส) ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) กรณีผิดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อขอให้ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาดังกล่าวในวันที่ 26 ก.ค.นี้ ขณะนี้ต้องรอฟังคำสั่งศาลในวันที่ 26 ก.ค.อีกครั้งว่าจะเป็นอย่างไร
“ตามหลักๆ จะมีใน 2 มิติ เพราะคำสั่งศาลในอดีตที่ผ่านมาแล้ว มีคำสั่งศาลออกมาแล้ว และในส่วนของอนาคตต้องดูอีกทีว่าตัวสัญญาจะเป็นอย่างไร อาจต้องดูคำสั่งศาลเป็นมูลฐานในการพิจารณาเรื่องของอนาคตด้วย เพราะตัวของสัญญาที่ 2 ยังอีกไกลเป็น 10 ปี ดังนั้น คำตัดสินของศาลไม่ว่าจะตัดสินออกมาอย่างไร ในเรื่องของอดีตที่ผ่านไปแล้วที่เดินรถไปแล้ว ต้องดูอนาคตด้วย ต้องรอคำสั่งศาล ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนที่มาอยู่แล้ว แต่พอมาแล้วก็พยายามทำคดีให้ดีที่สุด คงต้องรอฟังคำสั่งศาลอีกครั้ง” นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า หากคำตัดสินของศาลเป็นไปตามศาลชั้นต้นกรณีเรื่องของการชำระหนี้นั้นกทม.จะดำเนินการอย่างไรต่อนั้น คงต้องรอดูคำสั่งศาลอีกครั้งว่าให้ใครจ่าย ตอนนี้เรื่องยังคงค้างอยู่ในศาล จะไปตัดสินจ่ายก่อนก็ไม่ได้ ถือเป็นเรื่องดีจะได้ชัดเจนและเดินหน้าต่อ เพราะเป็นเรื่องที่ค้างคามานาน
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ความพร้อมของกทม.ที่ต้องชำระเงินให้แก่เอกชนนั้น ต้องหารือกันอีกครั้ง ที่ผ่านมาพยายามใช้งบประมาณต่าง ๆ อย่างจำกัด เพื่อให้มีเงินเหลือไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน
"การตั้งงบประมาณในปี 2568 ยังตั้งงบประมาณเท่าเดิมคือ 9 หมื่นล้าน เนื่องจากกทม.ยังมีคดีอื่นที่ค้างอยู่ในอดีต เช่น คดีรถดับเพลิงที่ยังจอดอยู่ที่แหลมฉบังอีกประมาณ 3 พันล้าน อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่ากทม.ต้องเตรียมงบประมาณเผื่อไว้ให้ในกรณีฉุกเฉิน" นายชัชชาติ กล่าว
นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) กล่าวว่า วันที่ 26 ก.ค.นี้ ผมจะไปศาลปกครองสูงสุด เพื่อฟังคำพิพากษา คดีที่บีทีเอสซี ฟ้องกทม.และเคที ผิดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ตามสัญญา เดือน พ.ค.2555
และส่วนต่อขยายที่ 2 ตามสัญญา เดือน ส.ค.2559 ซึ่งเป็นการฟ้องคดีครั้งที่ 1 และศาลปกครองชั้นต้น ได้ตัดสินให้ชำระเงินค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 พร้อมดอกเบี้ย ให้กับบีทีเอสซี โดยกทม.และเคที ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดและนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 26 ก.ค.นี้