"ดีพร้อม" อัดงบ 1.7 พันล้าน หนุนเอสเอ็มอีกลุ่ม "Soft Power" รุดตลาดโลก

06 ก.ย. 2567 | 01:54 น.
อัพเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2567 | 01:54 น.

"ดีพร้อม" อัดงบ 1.7 พันล้าน หนุนเอสเอ็มอีกลุ่ม "Soft Power" รุดตลาดโลก หลังได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 68 เพิ่ม เดินหน้า สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ และยกระดับผู้ประกอบการที่มีอยู่

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) เปิดเผยถึงแผนงานพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs) ปีงบประมาณ 2568 ว่า ดีพร้อมได้งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 1,700 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 2567 ที่ได้รับ 1,200 ล้านบาท 

ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าวเชื่อว่าจะช่วยเอสเอ็มอีทั้งสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ และยกระดับผู้ประกอบการที่มีอยู่ให้แข่งขันในประเทศและตลาดโลกได้ เพราะเอสเอ็มอีคือฐานรากเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ 

โดยปีงบ 2568 จะเน้นสนับสนุนเอสเอ็มอีกลุ่มซอฟต์พาวเวอร์ตามนโยบายรัฐบาล
 

อย่างไรก็ดี ล่าสุดได้ดำเนินการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนเครื่องดื่มไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้เติบโตได้ในระดับสากลและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ภายใต้งาน CRAFT DRINK by DIPROM ศาสตร์และศิลป์เครื่องดื่มไทย นำธุรกิจไกลสู่สากล

"ดีพร้อม" อัดงบ 1.7 พันล้าน หนุนเอสเอ็มอีกลุ่ม "Soft Power" รุดตลาดโลก

เพื่อให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม และเครื่องดื่มไทยสู่ตลาดโลกอย่างเต็มที่ แลพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเป็นเอกลักษณ์ เพื่อแข่งขันในตลาดสากลได้อย่างยั่งยืน 

ซึ่งจะชูสินค้า 3 กลุ่มหลักสำคัญ ได้แก่ กาแฟ โกโก้ และ สุราพื้นบ้าน จาก 120 ร้านค้าทั่วประเทศ หวังยกระดับสินค้าชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ พร้อมพัฒนาตลาดสินค้าเครื่องดื่มชุมชนเหล่านี้ให้เป็นที่แพร่หลายไปสู่ระดับโลก 
 

การดำเนินการดังกล่าวเป็นการรวมผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของไทยที่มีความหลากหลายและมีอัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้เป็นส่วนหนึ่งของซอฟต์พาวเวอร์ในด้านอาหารของไทย อีกทั้งยังได้ร่วมนำเสนอผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากกลุ่มผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชนจากทุกภูมิภาค เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ ตั้งเป้ามีผู้ร่วมงานมากกว่า 100,000 คน และต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 140 ล้านบาท

นายณรงค์ฤทธิ์ ผลห้า ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์โกโก้ เจ้าของแบรนด์ Singora chocolate  กล่าวว่า ผลผลิตเมล็ดโกโก้ภายในประเทศมีไม่ถึง 1 พันตันต่อปี ทำให้ต้องนำเข้ากว่า 5 พันตันต่อปี ดังนั้นยังมีโอกาสขยายกำลังการผลิตได้มากกว่า 5 เท่าตัว 

นางสาวสุรีรัตน์ สิงห์รักษ์ ผู้ประกอบการกาแฟแบรนด์ ลองเลย กล่าวว่า หลังจากพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ ก็ได้รับการตอบสนองจากลูกค้าดีขึ้น ยอดขายเพิ่มขึ้น และคนทั่วไปก็รู้จักสินค้าของเรามากขึ้น โดยในก้าวต่อไปจะมุ่งไปสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม ที่ตั้งเป้าหมายจะส่งเข้าไปขายในโมเดิร์นเทรดให้ได้ในอนาคต ทำให้คนทั่วไปรู้จักแบรนด์ลองเลยมากขึ้น