ปิดดีลมหากาพย์ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ยุค “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ”

08 ก.ย. 2567 | 07:07 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2567 | 07:15 น.

ปิดมหากาพย์ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” 1.4 แสนล้านบาท หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเดินหน้าต่อ ฟาก “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ชงครม.ยุครัฐบาลเศรษฐาไฟเขียว เร่งปิดดีล BEM เซ็นสัญญาภายใน 1 สัปดาห์ ตั้งเป้าเปิดให้บริการครบตลอดเส้นทางภายในปี พ.ย.73

KEY

POINTS

  • ปิดมหากาพย์ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” 1.4 แสนล้านบาท หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเดินหน้าต่อ
  • ฟาก “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ชงครม.ยุครัฐบาลเศรษฐาไฟเขียว
  • เร่งปิดดีล BEM เซ็นสัญญาภายใน 1 สัปดาห์
  • ตั้งเป้าเปิดให้บริการครบตลอดเส้นทางภายในปี พ.ย.73 

กว่า 3 ปีที่ประชาชนต่างเฝ้ารอให้ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” เปิดให้บริการโดยเร็ว เนื่องจากแนวเส้นทางโครงการนี้ผ่านสถานที่สำคัญ เช่น เกาะรัตนโกสินทร์ ,พื้นที่เมืองเก่าเขตดุสิต,เขตพระนคร, โรงพยาบาลศิริราช,สนามหลวง, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย,แยกประตูน้ำ,ชุมชนประชาสงเคราะห์ หากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม แล้วเสร็จจะช่วยให้การเดินทางของประชาชนในกรุงเทพฯสะดวกมากขึ้น อีกทั้งเป็นการดึงให้ผู้คนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น

จากการฟ้องร้องของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี 1 ในเอกชนที่ยื่นซองร่วมประมูลได้รับความเสียหาย

จนนำมาสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มหลายคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ปรับเปลี่ยนเกณฑ์

ภายหลังจากบรรดาบิ๊กเอกชนยื่นซองข้อเสนอแล้ว รวมถึงคดีที่มีการกีดกันด้านการแข่งขัน ทำให้เอกชนบางรายไม่สามารถเข้าร่วมประมูลโครงการได้ทันนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2567 ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกฟ้องและยืนตามศาลชั้นต้นว่า การประกาศเชิญชวนร่วมลงทุนฯ ในโครงการดังกล่าวและเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน รวมถึงการปรับหลักเกณฑ์ข้อเสนอด้านเทคนิค ไม่มีลักษณะเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเห็นชอบให้เอกชนที่ชนะการประมูลสามารถดำเนินโครงการต่อไปได้

จากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวทำให้เจ้ากระทรวงในยุค “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เร่งผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ อย่างง่ายดาย

สร้างความฮือฮาไม่น้อย เนื่องจากรัฐบาลในยุคที่ผ่านมาพยายามผลักดันโครงการหลายครั้ง แต่กลับโดนเบรกจากหลายหน่วยงาน ตลอดจนในที่ประชุมครม.มีการคัดค้านจนถูกถอดวาระออก เพราะต้องรอคำสั่งศาลให้ได้ข้อยุติก่อน ส่งผลให้ในช่วงนั้นรถไฟฟ้าสายสีส้มหยุดชะงักกลางคัน

หลังจากครม.มีมติเห็นชอบเดินหน้าโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ได้ไม่นาน ฟากกระทรวงคมนาคมเร่งถกบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เอกชนผู้ชนะการประมูลทันที เพื่อหาฤกษ์งามยามดีในการลงนามสัญญาร่วมกัน โดย BEM  เป็นผู้เสนอผลประโยชน์สุทธิ (NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด      

พบว่าเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2567 วันลงนามสัญญาระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเป็นสัปดาห์เดียวกับที่ครม.เห็นชอบอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ภายในงานการลงนามระหว่างรฟม.และBEM มีผู้บริหารของ BEM และผู้บริหารในกระทรวงคมนาคมรวมทั้งรฟม.เข้าร่วมพิธีกันอย่างคับคั่ง ซึ่งภายในงานราบรื่นเป็นไปด้วยดี โดยมีนายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธี

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออกได้ก่อนภายในต้นปี 2571 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน

หลังจากนั้นจะเร่งเปิดให้บริการตลอดทั้งเส้นทางทั้งส่วนตะวันออกและตะวันตกให้แล้วเสร็จก่อนกำหนดการในเดือนพฤศจิกายน 2573 ต่อไป
 

ฟากบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้ระบุว่า งานโยธา ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ขณะนี้ BEM เตรียมความพร้อมทั้งอุปกรณ์ เครื่องจักร และแรงงาน มั่นใจว่าจะเข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้างได้ทันที ส่วนวงเงินลงทุนโครงการฯเชื่อว่าไม่มีปัญหา เนื่องจาก BEM ได้เงินกู้จากธนาคารกรุงเทพ วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท โดยประเมินว่าจะทยอยลงทุน 2 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 6 ปี 

ขณะที่การสั่งซื้อและจัดหาขบวนรถจะเริ่มดำเนินการภายในปีนี้ จำนวน 30 คัน ขบวนละ 3 ตู้ ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี ก่อนจะเปิดให้บริการในสายตะวันออกก่อน

สำหรับการจัดเก็บอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในช่วง 2 ปีแรกที่เปิดให้บริการ อยู่ที่ 17-42 บาท โดยมีค่าแรกเข้าอยู่ที่ 15 บาท จากเดิมที่อัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 20-65 บาท หลังจากนั้นจะปรับอัตราค่าโดยสารตามดัชนีความคุ้มครองผู้บริโภค (CPI) ทุกๆ 2 ปี

จากผลการศึกษาโครงการฯคาดการณ์ว่า ในปีแรกของการเปิดให้บริการฝั่งตะวันออกในปี 2571 นั้น จะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 150,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน และจะมีผู้โดยสารเมื่อเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกประมาณ 400,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน

ขนาด “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” โจทย์สุดหินที่หาทางออกได้ยากแต่ไม่เกินความสามารถของ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” แบบนี้การผลักดันบิ๊กโปรเจ๊กต์ต่างๆในกระทรวงคมนาคมต้องผ่านฉลุยอย่างแน่นอน