เริ่มแล้ว “รฟม.” ถก กทม.เวนคืนที่ดิน สร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.4 หมื่นล้าน

21 ส.ค. 2567 | 08:50 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2567 | 08:56 น.

“รฟม.” ถก กทม.ลุยขอใช้พื้นที่เวนคืนที่ดิน สร้าง “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” หลังพ.ร.ฎ.เวนคืน มีผลบังคับใช้แล้ว เตรียมตอกเสาเข็มต้นปี 68 ปูทางส่งมอบ BEM รับช่วงต่อดูแลโครงสร้างตะวันออกภายในเม.ย.69

นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท หลังจากมีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนผู้ชนะการประมูลแล้วนั้น 

ขณะนี้รฟม.อยู่ระหว่างหารือถึงแนวทางและเงื่อนไขการเข้าพื้นที่ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อให้เอกชนดำเนินการเข้าพื้นที่ในการเวนคืนที่ดินก่อนดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ เนื่องจากในปัจจุบันพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ได้มีผลบังคับใช้แล้ว
 

ทั้งนี้ตามแผนการเวนคืนที่ดินจะนำร่องการขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะก่อน คาดว่าจะเริ่มเวนคืนที่ดินภายในปี 68 ใช้ระยะเวลา 2 ปี หลังจากนั้นจะก่อสร้างได้ภายในต้นปี 68 หรือไตรมาสที่ 1 ปี 68 และเปิดให้บริการได้ตลอดเส้นทางภายในปี 2573 

ขณะที่การติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและระบบอาณัติสัญญาณ ตลอดจนการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าเพื่อนำมาให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น ปัจจุบันเอกชนอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบให้เกิดความชัดเจนก่อน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ซึ่งตามแผนจะเริ่มทดสอบระบบฯ หลังเดือนเม.ย.69 เนื่องจากรฟม.ต้องส่งมอบและถ่ายโอนงานบำรุงรักษาของสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ให้แล้วเสร็จก่อน
 

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ด้านค่าดูแลรักษาโครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ที่ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จครบ 100% นั้น ขณะนี้รฟม.เป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาระบบสาธารณูปโภคภายในสถานีรถไฟฟ้าและอาคารต่างๆที่เกี่ยวข้องไปก่อน เนื่องจากอยู่ในช่วงการรับประกันงานก่อนที่เอกชนจะเข้ามารับช่วงต่อ 

สำหรับค่าใช้จ่ายที่รฟม.ต้องดูแลรักษา ประมาณ 40 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งยังไม่เกินกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ เบื้องต้นตามแผน รฟม.จะส่งมอบและถ่ายโอนงานบำรุงรักษาฯดังกล่าวให้กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทาน ภายในเดือนเม.ย.2569 

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบที่ดินที่ถูกเวนคืนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จำนวน 380 แปลง และที่ดินที่ต้องกำหนดลักษณะภาระในอสังหาริมทรัพย์ 410 แปลง

และต้องรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างประมาณ 400 หลัง โดยค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์โครงการส่วนตะวันตกมีกรอบวงเงิน 14,661 ล้านบาท