เจาะลึกนโยบายรัฐบาล “รื้อระบบราชการไทย” ต้านโกง-ลดไซส์-ใช้งบน้อยฯ

09 ก.ย. 2567 | 22:15 น.

รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร วางนโยบาย “การปฏิรูประบบราชการและกองทัพ” ครั้งใหญ่ มุ่งสู่การเป็น Digital Government ใช้งบฯน้อยที่สุดแต่มีประสิทธิภาพมากที่สุด จะมีการลดขนาดองค์กร ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยกระดับบริการภาครัฐตอบโจทย์ประชาชน

นโยบายรัฐบาล 2567 “แพทองธาร ชินวัตร” เตรียมแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา 12 กันยายน 2567 หนึ่งในชุดนโยบายคือ “การปฏิรูประบบราชการไทย” 

ท่อนหนึ่งในคำแถลงนโยบายของนายกฯแพทองธาร ระบุถึงนโยบายการปฏิรูประบบราชการว่า 

รัฐบาลจะยึดมั่นในหลักนิติธรรม (Rule of Law) และความโปร่งใส (Transparency) สร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุดแต่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในการสร้างรายได้และสร้างโอกาสแก่ประเทศและประชาชน โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ให้เป็นทุนทางสังคมและทางความคิดที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ

รัฐบาลจะปฏิรูประบบราชการและกองทัพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เปลี่ยนผ่านราชการไทยไปสู่ราชการทันสมัยในระบบดิจิทัล(Digital Government) ปรับขนาดให้มีความคล่องตัว เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการใช้งบประมาณและการปฏิบัติราชการ ปรับขนาด

และกำลังคนภาครัฐให้สอดคล้องกับภารกิจ เปลี่ยนผ่านรูปแบบการเกณฑ์ทหารไปสู่แบบสมัครใจ เน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรภาครัฐเป็นคนดีและเก่ง มีคุณธรรม มุ่งมั่นและมืออาชีพโปร่งใสและตรวจสอบได้ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะของรัฐและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมคิดตัดสินใจในกระบวนการพัฒนาท้องถิ่น และการดูแลชุมชน

รัฐบาลจะยกระดับการบริการภาครัฐให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น ปรับบทบาทภาครัฐเป็นการส่งเสริมสนับสนุน (Enable) การอำนวยความสะดวก (Facilitate) และการกำกับกฎกติกา (Regulate) เพื่อให้ประชาชนและเอกชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว พร้อมทั้งจะลดกฎหมายและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น (Ease of Doing Business) เพื่อไม่ให้ภาครัฐเป็นอุปสรรคของภาคธุรกิจหรือขัดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

สรุป 7 นโยบายรัฐบาลแพทองธาร ในการปฏิรูประบบราชการ

 

1. การปรับสู่ระบบดิจิทัล

  • มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบราชการดิจิทัล (Digital Government) เพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน โดยนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ

 

2. การปรับโครงสร้างและบุคลากร

  • วางแผนปรับขนาดหน่วยงานราชการและจำนวนบุคลากรให้สอดคล้องกับภารกิจ พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาครัฐให้เป็นคนดี เก่ง มีคุณธรรม และความเป็นมืออาชีพ

 

3. การส่งเสริมธรรมาภิบาล

  • เน้นการทำงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ พร้อมทั้งส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐต่อสาธารณะ

4. การกระจายอำนาจ

  • ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจ และพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

5. การปรับบทบาทภาครัฐ

  • ปรับเปลี่ยนบทบาทภาครัฐให้เป็นผู้ส่งเสริม สนับสนุน (Enable) อำนวยความสะดวก (Facilitate) และกำกับดูแล (Regulate) มากกว่าการเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด

 

6. การยกระดับการบริการ

  • มุ่งพัฒนาการบริการภาครัฐให้สะดวก รวดเร็ว และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น โดยลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business)

 

7. การปฏิรูปกองทัพ

  • วางแผนปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารไปสู่ระบบสมัครใจ พร้อมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของกองทัพให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

 

คำมั่นสัญญาของรัฐบาล

นายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นต่อรัฐสภาว่า จะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง พร้อมประสานพลังจากทุกภาคส่วน ทุกช่วงวัย และทุกความเชี่ยวชาญ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ซึ่งตอบสนองสถานการณ์ปัจจุบันให้สำเร็จ

รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศให้เจริญก้าวหน้า เพื่อสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ทำให้คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี นำพาความภาคภูมิใจกลับมาสู่คนไทยและประเทศไทย พร้อมทั้งสร้างความหวังและอนาคตที่ดีกว่าให้แก่ประเทศ

การปฏิรูปครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าและพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืนในอนาคตอันใกล้