“สุรพงษ์” ผุด 3 แนวทาง รื้อแผนล้างหนี้ “รฟท.” 2.3 แสนล้าน

10 ก.ย. 2567 | 22:00 น.

“สุรพงษ์” ปัดฝุ่นแผนฟื้นฟูกิจการ รฟท. หลังหนี้ท่วม 2.3 แสนล้านบาท ผุดแนวคิดปิดบันทึกหนี้เสีย-ตั้งกองทุนใหม่-เบรกขอเงินอุดหนุน PSO 1.5 พันล้านบาท คาดได้ข้อสรุปแก้หนี้ภายในปี 68

KEY

POINTS

  • “สุรพงษ์” ปัดฝุ่นแผนฟื้นฟูกิจการ รฟท. หลังหนี้ท่วม 2.3 แสนล้านบาท
  • ผุดแนวคิดปิดบันทึกหนี้เสีย-ตั้งกองทุนใหม่-เบรกขอเงินอุดหนุน PSO 1.5 พันล้านบาท คาดได้ข้อสรุปแก้หนี้ภายในปี 68 

 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงมีแผนเดินหน้าฟื้นฟูกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยมีการกำหนดแผนวิสาหกิจการปี 2566 – 2570 ปัจจุบันพบว่ารฟท.มีหนี้สะสม จำนวน 2.3 แสนล้านบาท เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการวิ่งให้บริการรถไฟเชิงสังคม (PSO) และไม่เคยมีการปรับขึ้นค่าโดยสาร 34 ปี 

 “รฟท.เป็นองค์กรใหญ่ ซึ่งในอนาคตจะมีการลงทุนโครงการรถไฟทางคู่และโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดไทย-จีน) ทำให้มีเม็ดเงินมหาศาล แต่ปัจจุบันพบว่ารฟท.กลายเป็นองค์กรที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว” นายสุรพงษ์ กล่าว

 ตามพ.ร.บ.การรถไฟฯ ระบุว่า หากมีการขาดทุนภาครัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุน PSO ให้แก่รฟท. แต่ตามข้อเท็จจริงพบว่า ภาครัฐจ่ายเงินอุดหนุน PSO ไม่ครบตามที่กำหนด จากการบันทึกบัญชีของรฟท.มีการระบุในการขอเงินอุดหนุนเชิงสังคมจากภาครัฐ (PSO) จำนวน 5,000-6,000 ล้านบาทต่อปี แต่ได้รับงบประมาณอุดหนุนเพียง 1,000-1,500 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้รฟท.มีหนี้สะสมต่อเนื่อง 
 
ทั้งนี้กระทรวงต้องการเร่งแก้ปัญหาโดยเฉพาะหนี้สะสมของรฟท.ที่มีจำนวนมากและมีหนี้เพิ่มขึ้นทุกๆปี เบื้องต้นกระทรวงจะหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง,สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาในกรณีที่แต่ละปีรฟท.ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุน PSO ไม่เพียงพอ ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยปลดหนี้ให้รฟท.เป็นอิสระโดยที่ไม่กระทบต่อการใช้บริการของผู้โดยสารที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง

 นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันงบอุดหนุน PSO บางส่วนที่รฟท.ไม่ได้ในแต่ละปีนั้น มองว่าเราไม่อยากขอเงินในส่วนนี้เพิ่มเติม ซึ่งกระทรวงมีแนวคิดการบันทึกไม่เป็นหนี้ของรฟท. เชื่อว่าจะสามารถเป็นไปได้ ทั้งนี้ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หากมีการหารือแล้วเสร็จ 

หลังจากนั้นจะได้แนวทางเพื่อดำเนินการ ซึ่งจะต้องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป เพราะหากไม่แก้ไขในเรื่องนี้จะทำให้รฟท.กลายเป็นจำเลยเพียงเพราะบริหารไม่ได้จนเกิดหนี้ ทั้งที่เป็นนโยบายเพื่อสังคม คาดว่าจะได้ข้อสรุปการแก้หนี้รฟท.ภายในปี 2568

“ส่วนแนวทางการตั้งกองทุนเพื่อซื้อหนี้รฟท. รวมถึงแนวทางยกเลิกการขอรับเงินอุดหนุน PSO จากภาครัฐนั้น มองว่าเรื่องนี้เป็นแนวคิดที่อยากดำเนินการเช่นกัน เพราะเราคงให้รฟท.อยู่ในสภาพแบบนี้ต่อไปไม่ได้ ส่วนจะดำเนินการอย่างไรคงต้องหาพาร์ทเนอร์ที่เกี่ยวข้องมาร่วมด้วย” นายสุรพงษ์ กล่าว

ขณะเดียวกันการรับจัดสรรงบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐ (PSO) ได้กำหนดให้มีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 26 ล้านที่นั่งต่อปี แต่ปัจจุบันพบว่ามีผู้โดยสารมาใช้บริการเพียง 18.7 ล้านที่นั่งต่อปี ขณะนี้รฟท.ได้ปรับรูปแบบการใช้บริการของผู้โดยสารตามจริงเพื่อให้สอดรับกับงบที่ได้รับ ส่วนการใช้บริการของผู้โดยสารที่เหลืออีก 7.3 ล้านที่นั่งต่อปี จะปรับเป็นการให้บริการเชิงพาณิชย์แทน

นอกจากนี้หากร่างพระราชบัญญัติกรมการขนส่งทางราง พ.ศ. …. มีผลบังคับใช้ รวมทั้งมีการเปิดให้บริการรถไฟทางคู่และโครงการระบบรางอื่นๆ เพิ่มขึ้น จะช่วยปลดล็อคกฎหมายให้เอกชนเข้ามาเดินรถด้านระบบขนส่งทางรางได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้การใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งทางรางเพิ่มขึ้น 75-80% จากปัจจุบันที่มีการใช้ประโยชน์จากระบบรางกว่า 20% ซึ่งจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติกรมการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ถูกตีกลับมาที่กระทรวงคมนาคม เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านครม. ทำให้ต้องเสนอกลับเข้าครม.ชุดใหม่อีกครั้ง ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้เอกชนสามารถเข้ามาเช่าระบบรางในการเดินรถโดยสารแก่ประชาชนได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อป้องกันในกรณีที่เอกชนนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปปรับขึ้นค่าโดยสาร ถือเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชนที่ใช้บริการ แต่เอกชนจะถูกเรียกเก็บค่าบริการ 20 บาทต่อคันต่อกิโลเมตร (กม.) ต่อเมื่อการเช่ารถโดยสารเพื่อขนส่งสินค้า

 สำหรับข้อมูลประมาณการกระแสเงินสดในปี 2567 ของ รฟท.ดังนี้ การคาดการณ์รายรับประจำปี 2567 รวม 10,661 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น รายได้จากการโดยสาร 2,957 ล้านบาท ,รายได้การขนส่งสินค้า 2,467 ล้านบาท ,รายได้จากการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง 327 ล้านบาท ,รายได้จากการบริหารทรัพย์สิน 3,736 ล้านบาท,รายได้ค่าธรรมเนียมการดำเนินงาน ICD ลาดกระบัง 499 ล้านบาท,รายได้ค่าเช่าตลาดนัดจตุจักร 169 ล้านบาท และรายได้จาการดำเนินงานอื่นๆ 503 ล้านบาท

“สุรพงษ์” ผุด 3 แนวทาง  รื้อแผนล้างหนี้ “รฟท.” 2.3 แสนล้าน

 ส่วนการคาดการณ์รายจ่ายประจำปี 2567 รวม 29,631 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายครบกำหนดชำระดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายเงินกู้ 5,436 ล้านบาท ,รายจ่ายบำรุงทางอาณัติสัญญาณ และสิ่งปลูกสร้าง 3,514 ล้านบาท ,รายจ่ายรถไฟฟ้าสายสีแดง 1,111 ล้านบาท,รายจ่ายบำรุงรักษารถจักร และล้อเลื่อน 3,824 ล้านบาท,รายจ่ายในการเดินรถขนส่ง 9,342 ล้านบาท

 รายจ่ายในการบริหาร 1,005 ล้านบาท และรายจ่ายบำเหน็จบำนาญอีก 5,397 ล้านบาท ทั้งนี้จากประมาณการรายรับและรายจ่ายที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การดำเนินงานของ รฟท.ในปีงบประมาณ 2567 คาดการณ์ว่าจะติดลบอยู่ที่ 18,970 ล้านบาท

เมกะโปรเจ็กต์ หน้า 8 ฉบับที่ 4,026 วันที่ 12 - 14 กันยายน พ.ศ. 2567