"เงินดิจิทัล 10000" ใช้งบสูง "SCB EIC" ชี้กระตุ้นเศรษฐกิจไม่เต็มที่

12 ก.ย. 2567 | 10:37 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2567 | 10:37 น.

"เงินดิจิทัล 10000" ใช้งบสูง "SCB EIC" ชี้กระตุ้นเศรษฐกิจไม่เต็มที่ ระบุมีผลแค่ชั่วคราว ส่งผลให้หนี้สาธารณะไทยอาจมีแนวโน้มชนเพดานในปี 70 เผยจีดีพีปี 67-68 ขยายตัวต่ำโดได้ไม่ถึง 3%

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจปี 67 มองว่าน่าจะขยายตัวต่ำที่ระดับ 2.5% และปี 68 ที่ระดับ 2.6% 

โดยมองว่าในระยะต่อไป ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นแรงส่งหลักที่เหลืออยู่ของเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีการประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 68 ไว้ที่ 39.4 ล้านคน โดยที่การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังถูกกดดันจากแนวโน้มการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนแบบกรุ๊ปทัวร์
 

ด้านการส่งออกไทยปี 68 ยังเติบโตต่ำกว่าในอดีต ส่วนหนึ่งจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง การผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่แม้เริ่มทยอยฟื้นตัวตามการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังเผชิญแรงกดดันจากสินค้าคงคลังสูง และอุปสงค์ในประเทศเปราะบาง การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัวเล็กน้อยในปีนี้ แต่จะกลับมาขยายตัวได้ในปีหน้า ตามมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของ Board of Investment ที่ปรับดีขึ้นมาก แต่การลงทุนจะยังเติบโตได้ไม่มากนัก จากภาคก่อสร้างที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำ และการลงทุนยานพาหนะที่ใช้เวลาฟื้นตัวจากภาวะสินเชื่อตึงตัว

สำหรับการบริโภคภาคเอกชน จะชะลอลงมากในสินค้าคงทน โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ที่หดตัวต่อเนื่อง ประกอบกับรายได้ภาคเกษตรมีแนวโน้มกลับมาหดตัว ตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่จะลดลงในปีหน้า อีกทั้งยังถูกกดดันจากสินเชื่ออุปโภคบริโภค ที่ชะลอลงต่อเนื่องเพราะคุณภาพสินเชื่อด้อยลง

ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจไทยปีหน้า จากผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2567 ที่ยังต่ำ จึงมีแนวโน้มจะลดการใช้จ่ายสินค้าและบริการไม่จำเป็นมากขึ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพิ่มเติมจะมีข้อจำกัดมากขึ้น จากภาระการคลังที่สูง โดยประเมินว่าโครงการเงินดิจิทัล 10000 ใช้วงเงินสูง แต่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่และชั่วคราว ส่งผลให้หนี้สาธารณะไทย อาจมีแนวโน้มชนเพดานในปี 70
 

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ เป็นการสานต่อนโยบาย ครม. ชุดก่อน โดยมีจุดเน้นมากขึ้นที่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจกลุ่มเปราะบาง โดยประเมินชุดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะสั้น จะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค ท่องเที่ยว และภาคเกษตร 

ขณะที่ธุรกิจที่มีแรงงานขั้นพื้นฐานในสัดส่วนสูง จะได้รับผลกระทบด้านต้นทุน และธุรกิจพลังงานอาจได้รับผลกระทบด้านรายได้ สำหรับนโยบายส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน จะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมที่สอดรับเทรนด์โลก และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต