“พิชัย” ลุยแก้หนี้เอกชน ถกแบงก์พาณิชย์-ธปท. หาทางออก

12 ก.ย. 2567 | 13:22 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2567 | 13:38 น.

“พิชัย ชุณหวชิร” รมว.คลัง แจงสภาฯ รัฐพร้อมแก้หนี้เอกชน ถกแบงก์พาณิชย์-ธปท. ดึงหนี้เสียออกมา ระบุ SM ชะงักแล้ว หลังใช้แบงก์รัฐออกมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ แนะดึงศักยภาพอ่าวไทย ลดภาระค่าพลังงาน

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงต่อสภาฯ หลังจากประชุมแถลงนโยบายของรัฐบาล ว่า ปัญหาประเทศไทย เศรษฐกิจเติบโตต่ำ 5 ปีที่ผ่านมา เรียกว่า 0% ได้หากนับโควิด หากไม่นับรวมก็ประมาณ 1.9%

ขณะที่ปัจจุบันคาดการณ์ว่าขยายตัวได้ 2.4% หลายคนบอกว่าต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งผมก็มองว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่ดี ทั้งเป็นศูนย์กลางของโลก ทุกอย่างเหมาะที่จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หากไม่ทำอะไร ศักยภาพส่วนนั้นจะอ่อนด้อยไป

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ หากดูนโยบายไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม หากจะแก้ปัญหาประเทศจะคิดแนวทางเช่นเดียวกัน ซึ่งวันนี้เศรษฐกิจไม่ดี สิ่งที่สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลนี้จะมีการเสริมสร้างขึ้นมาใหม่ ผ่านมาตรการแก้หนี้ จากปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90%ต่อจีดีพี ยอมรับว่าไม่สามารถแก้ให้ตัวเลขดังกล่าวนี้ลดลงมาได้แน่นอน จนกว่าจะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นมาได้

ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาหนี้ แม้หลายอย่างเป็นหนี้เสีย แต่หลายอย่างได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ที่อยู่ระดับพึงพอใจ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ เรียนว่า วันนี้สิง่ที่เราจะทำต่อไป คือ เมื่อหนี้ไม่สามารถชำระได้ หรือหนี้เสียอยู่ที่ 90% แต่หนี้ที่พึงระวัง หรือ Special Mention Loan (SM) นั้น หากไม่แก้ไขหนี้ครัวเรือนจะขยับขึ้นเป็น 95% แน่นอน แต่เนื่องจากได้รับการแก้ไข ทำให้สถานการณ์ SM เริ่มหยุด ทำให้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนดีขึ้น

“โดยสาเหตุมาจากเราได้เข้าไปดูแลผ่านสถาบันการเงินของรัฐ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะการยืดหนี้ที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้ถึงอายุ 85 ปี เป็นต้น ส่วนแบงก์พาณิชย์นั้น จะเข้าไปดูว่าภาครัฐจะเข้าไปช่วยดูแลได้อย่างไร ประกอบกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อดึงเอาหนี้เสียมาไว้ข้างนอกด้วยการใช้ความพยายามของทั้ง 3 ฝ่าย ซึ่งอยู่ระหว่างหารือร่วมกัน แม้หนี้จะไม่ลด แต่คนเป็นหนี้จะหายใจได้บ้าง”

นอกจากนี้ จะดูเรื่องลดรายจ่าย แม้ขณะนี้ภาพรวมเงินเฟ้อบ้านเราต่ำ ซึ่งยังไม่ถึง 0.1% แม้จะดูว่าเป็นผลดีสินค้าไม่แพง แต่ดูอีกด้านหนึ่ง คือ ผู้ผลิตขายของไม่ได้ เพราะของถูกเกินไปหรือไม่ ซึ่งอาจไม่ถูกในสายตาประชาชน แต่ถูกเมื่อเทียบกับชาวโลก

โดยการลดรายจ่ายนำมาซึ่งโปรเจค ได้แก่ พลังงาน ยอมรับว่า ไม่มีใครแก้ปัญหาราคาพลังงานได้ เพราะเรานำเข้าน้ำมันกว่า 90% และนำเข้าราคาก๊าซธรรมชาติกว่า 65% ซึ่งสามารถแก้ไขได้อย่างเดียวคือ ไม่เก็บภาษีเลย แต่ไม่สามารถทำได้ ด้วยโครงสร้างบ้านเรา

อย่างไรก็ตาม วิธีที่จะทำ คือ ต้องคิด 2 วิธี ได้แก่ ความมั่นคง และราคา โดยจะทำให้ราคาถูกจะต้องเป็นเจ้าของพลังงาน จึงอยากเรียนว่า ของที่อยู่ในประเทศไทยทางฝั่งอันดามัน เราไม่สามารถทำได้มาก

แต่ในอ่าวไทยนั้น เรามีทรัพยากรข้างล่างจะนำมาใช้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าคิด และโครงสร้างในอ่าวไทย คาดผลิตได้ในราคา 20 เหรียญต่อ 1 บาร์เรล ขณะที่ราคานำเข้าพลังงานของเรา 85-90 เหรียญ ฉะนั้น หากแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้จะเป็นสิ่งที่มีความมั่นคง และได้ราคา จากการคำนวณคาดว่าราคาไฟฟ้าจะต่ำกว่า 3.50 บาทแน่นอน

ขณะที่การเดินทางนั้น สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้โครงสร้างรถไฟฟ้า คือ รัฐได้ลงทุนไปแล้ว หนี้ 12 ล้านล้านบาท ซ่อนอยู่ใกล้ 1 ล้านล้านบาท ขณะที่เอกชนลงทุนไป 3 แสนล้านบาท และเดินรถอยู่ ได้สัมปทาน หากเราคิดว่ายังเกิดหนี้อยู่ก็พักไว้ และดึง 3 แสนล้านบาทมาบริหาร เชื่อว่า เราสามารถดึงค่าโดยสารลงมาได้อย่างมีนัยะสำคัญ