ปักธง ก.ย.68 รถไฟฟ้าสารพัดสี 20 บาทตลอดสายได้ใช้แน่ “สุริยะ” ยืนยัน

13 ก.ย. 2567 | 12:49 น.
อัพเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2567 | 13:18 น.

“สุริยะ” โต้ “สุรเชษฐ์” ยันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำได้จริง ปักธงดันสารพัดสีได้ภายใน ก.ย.68 มั่นใจประสบการณ์ทำงานในรัฐบาลทักษิณ ผุดแนวคิดซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าเอกชนคืน หั่นค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูก อุ้มประชาชนใช้บริการ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงตอบนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.พรรคประชาชน ในประเด็นนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท นั้น การอภิปรายของฝ่ายค้านมีหลายส่วนเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนคิดไปเองไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและบิดเบือน ทำให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิด ดังนั้นผมจะขออนุญาตชี้แจงให้ทราบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องถึงเจตนาและวัตถุประสงค์ของการดำเนินการของกระทรวงคมนาคมในนโยบายดังกล่าว

“ส่วนประเด็นที่นายสุรเชษฐ์ได้ระบุว่านโยบาย 20 บาท ตลอดสาย ทำไม่ได้ นั้น ผมจะขออนุญาตสะท้อนให้ฟังถึงหลักคิดของผู้บริหารองค์กรที่ดีว่า “ทุกปัญหามีคำตอบ” ซึ่งจะต่างกับผู้บริหารองค์กรที่ล้มเหลว ที่จะยึดหลักว่าทุกคำตอบมีปัญหา”

นั่นเป็นหลักคิดที่ผมยึดถือในการทำงานว่า ทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้ ผมยืนยันว่านโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทำแน่และได้ทำไปแล้ว” นายสุริยะ กล่าว

ภายหลังแถลงนโยบายในรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ ภายใต้การกำกับของอดีตนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ได้เร่งรัดดำเนินการนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ให้ได้โดยเร็ว โดยแยกเป็น 2 ส่วน สำหรับส่วนที่รัฐดำเนินการเดินรถเอง ได้แก่ สายสีแดงและสายสีม่วง จะดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายใน 3 เดือน

นายสุริยะ ชี้แจงต่อว่า ส่วนที่รัฐมีสัญญาให้สัมปทานเอกชนเป็นผู้เดินรถ อาจจะต้องใช้เวลา ดำเนินการ ภายใน 2 ปี ซึ่งในขณะนั้นก็ได้รับการปรามาสว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้จะทำได้หรือ

หลังจากนั้นเพียงไม่ถึง 2 เดือน จากวันที่ผมเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 16 ตุลาคม 2566 กระทรวงคมนาคม สามารถทำตามนโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาทสำหรับสายสีแดงและสายสีม่วงให้กับพี่น้องประชาชนในทันที

สำหรับรถไฟฟ้าสายอื่นที่เหลือที่มีการทำสัญญาสัมปทานกับเอกชนไว้ จำเป็นต้องใช้อำนาจทางกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 2 ปี หรือภายในเดือนกันยายน 2568 จะครอบคลุมในทุกสาย ทุกสี

ในปี 2545 ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมครั้งแรก ขณะนั้นท่านทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายต้องการประชาชน หันมาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาเหมาะสม

แทนการใช้รถส่วนบุคคล ที่มีอยู่ปริมาณมาก ทำอย่างไรก็ไม่สามารถสร้างถนนได้เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าในชั่ว โมงเร่งด่วนเกิดปัญหาการจราจรติดขัดอย่างมากในกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล

ทั้งนี้รัฐบาลจึงได้วางแผนที่จะลงทุนก่อสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน จำนวน 14 สาย ระยะทางรวม ประมาณ 540 กิโลเมตร โดยมีวัตถุประสงค์หลักให้ประชาชนเกิดความสะดวก ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวแล้วหันมาใช้ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแทน

จากประสบการณ์ของผมในการบริหารระหว่างการทำรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสายแรกที่กระทรวงคมนาคมดำเนินการ เปิดให้บริการประชาชนเมื่อปี 2547 ขณะนั้นผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และได้รับรายงานว่าโครงการผลิตตัวรถจักรที่ประเทศออสเตรียเกิดปัญหาความล่าช้าในการผลิต จึงไม่สามารถเปิดให้บริการได้ทันตามกำหนด

ผมจึงได้หารือกับเจ้าของโครงการเพื่อเร่งรัด ให้เปลี่ยนวิธีการขนส่งขบวนรถ จากการขนส่งทางเรือ มาเป็นทางเครื่องบิน ซึ่งทำให้เร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิม 6 เดือน ส่งผลให้สามารถเปิดบริการแก่ประชาชนได้ทันกำหนด นั่นเป็นตัวอย่างของการตัดสินใจแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

นายสุริยะ ชี้แจงต่อว่า การเดินหน้านโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเป็น 20 บาทตลอดสายนั้น รัฐบาลจะ เดินหน้าอย่างแน่นอน ภายในเดือนกันยายน 2568 นั้น เป็นคนละส่วนกับนโยบายการซื้อคืนสัมปทานให้บริการเดินรถไฟฟ้าจากเอกชนผู้ประกอบการ ซึ่งเรื่องนี้เป็นการแก้ปัญหาระยะยาวที่ต้องมีการศึกษาในรายละเอียดอย่างรอบคอบ

เบื้องต้นกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ดำเนินการด้วยการสนับสนุนและร่วมมือจากกระทรวงคมนาคม ซึ่งเหตุผลและความจำเป็น ในเรื่องนี้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กรุณาอธิบายต่อสภาแห่งนี้ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวานนี้

ส่วนประเด็นที่ถามว่ารัฐจะเอาเงินมาจากไหนมาอุดหนุจ่ายส่วนต่างของค่าโดยสารที่ลดลงจากค่าโดยสารที่ระบุไว้ในสัญญาเดิมให้กับผู้ประกอบการนั้น ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างดำเนินการ

โดยมีหลักคิด คือ เงินที่มาใช้เป็นเงินอุดหนุนส่วนต่างของค่าโดยสารจากเดิมที่ระบุในสัญญาสัมปทานที่รัฐได้ทำไว้กับเอกชนและรัฐต้องเคารพการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวนั้นจะเป็นเงินที่มาจากกองทุนจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม

ด้านคำปรามาสบอกว่ารัฐจะเอาเงินที่ไหนมาใส่ในกองทุนล้วนแล้วแต่เป็นเงินภาษีของประชาชนทั้งสิ้น ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีเงินอีกหลายส่วนที่ไม่จำเป็นที่ต้องได้มาจากภาษีของประชาชนโดยตรง

เนื่องจากรถไฟฟ้าเป็นมาตรการในการลดการใช้พลังงานน้ำมัน เพราะประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมจากการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ทำให้สามารถขอใช้เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 

ซึ่งเป็นการนำเงินจากผู้ที่ใช้น้ำมัน มาทำให้เกิดการลดการใช้น้ำมัน ลดปริมาณการสร้างมลพิษทางอากาศ ถือเป็นการทำให้เกิดการคมนาคมขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือ Green Transport ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมด้วย 

นอกจากนี้ยังมีหลายแนวคิดที่กระทรวงคมนาคมได้กำหนดไว้ โดยนำเงินจากคนขับรถยนต์ส่วนบุคคลที่เติมน้ำมันและผู้้ขับรถที่ยังประสงค์จะใช้รถยนต์ในพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด

โดยรัฐได้จัดให้มีระบบขนส่งสาธารณะรองรับไว้แล้ว เพื่อมาอุดหนุนส่วนต่างค่าโดยสารให้กับประชาชนสามารถใช้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนได้ในราคาที่ถูก โดยไม่ต้องใช้เงินจากภาษีมาสนับสนุน

“สิ่งที่รัฐดำเนินการในเรื่องการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 20 บาทตลอดสายนั้น เป็นการทำเพื่อประชาชน อย่างแท้จริง ขอยืนยันว่า นโยบายดังกล่าว รัฐบาลทำได้ ทำจริง ทำเร็ว ได้ทำให้เห็นมาแล้ว และจะทำต่อไป ภายใต้การกำกับของท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร  ชินวัตร เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติโดยรวม” นายสุริยะ กล่าว