“สุริยะ” ดัน “วีริศ” ผู้ว่ารฟท.คนใหม่ ปิดดีลไฮสปีด-ทางคู่ 6.6 แสนล้าน

18 ก.ย. 2567 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2567 | 03:34 น.

ปักหมุด ต.ค.นี้ “สุริยะ” เตรียมมอบนโยบาย “วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่ารฟท.คนใหม่ หลังครม.ไฟเขียว ลุยสานต่อไฮสปีด-รถไฟทางคู่ วงเงิน 6.6 แสนล้านบาท หนุนงานระบบราง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ

มีมติแต่งตั้งให้นายวีริศ อัมระปาล ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คนใหม่ หลังจากคณะกรรมการสรรหาฯ ที่มีนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย ประธานคณะกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณาคัดเลือกให้นายวีริศ เป็นผู้ที่มีความเหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ คนใหม่

ผมในฐานะกำกับดูแลหน่วยงานการรถไฟฯ นั้น เตรียมมอบนโยบายให้ผู้ว่ารฟท.คนใหม่เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของไทยให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขยายขีดความสามารถในการขนส่งทางรางให้ทัดเทียมนานาประเทศ ตลอดจนก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางในภูมิภาคอาเชียนและเอเชีย คาดว่าจะเข้าไปมอบนโยบายแก่รฟท. ภายในเดือนต.ค.นี้ นายสุริยะ กล่าว 

นอกจากนี้ผู้ว่ารฟท.คนใหม่จะต้องขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า โดยมีเป้าหมายให้การรถไฟฯ กลับมาเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศ พร้อมทั้งจะต้องกำหนดนโยบายและทิศทางในการแก้ปัญหาให้ชัดเจน

โดยเฉพาะการไขปัญหาหนี้สะสม ที่ในปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึงกว่า 2.3 แสนล้านบาทซึ่งจะต้องลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ทั้งจากการขนส่งผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ในปี 2568 ครบรอบความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน 50 ปี ซึ่งกระทรวงคมนาคมพยายามเร่งรัดเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน ระยะที่ 1ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา

ล่าสุดอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ระหว่าง 2 ประเทศที่สามารถเชื่อมโยงเส้นทาง One Belt One Road ได้อย่างสมบูรณ์

ปัจจุบันประเทศจีนต้องการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟสายนี้ไปสู่ภูมิภาค เมื่อไทยมีการก่อสร้างโครงการไฮสปีดในระยะที่ 1 แล้ว จำเป็นต้องก่อสร้างต่อในระยะที่ 2 เพื่อให้เกิดศักยภาพการขนส่งทางระบบราง

กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่ออนุมัติโครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน เฟส 2 ได้เร็วขึ้น คาดว่าสศช.จะอนุมัติโครงการไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2 ภายในสิ้นปีนี้ 

หลังจากนั้นจะเสนอต่อครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป ซึ่งตามกระบวนการจะเริ่มเปิดประมูลงานโยธาได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 หลังจากนั้นจะพิจารณาการเปิดประมูลเดินรถในรูปแบบ PPPควบคู่การก่อสร้างงานโยธา ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2571

สำหรับโครงการฯสำคัญ ที่ผู้ว่ารฟท.ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการขนส่งทางราง โดยเฉพาะการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนสู่ทางราง เพื่อลดต้นทุนด้านโลโสติกส์ของประเทศ วงเงิน 661,060 ล้านบาท ประกอบด้วย  

 

1.โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ภายใต้กรอบความร่วมมือไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร รวมมูลค่าการลงทุน 341,351.42 ล้านบาท

แบ่งเป็น ค่างานโยธา 235,129 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และชดเชยทรัพย์สิน 10,310 ล้านบาท ค่าลงทุนระบบราง-ระบบรถไฟฟ้า และเครื่องกล 80,165 ล้านบาท 

2.โครงการรถไฟทางคู่ ระยะ 2 รวม 6 เส้นทาง มูลค่า 298,060 ล้านบาท ประกอบด้วย  

2.1 ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 281 กิโลเมตร วงเงิน 81,143 ล้านบาท

2.2 ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร วงเงิน 30,422 ล้านบาท

2.3ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร วงเงิน 66,270 ล้านบาท

 2.4 ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร วงเงิน 68,222 ล้านบาท

2.5 ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 44,103 ล้านบาท  

2.6ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร วงเงิน 7,900 ล้านบาท

3.โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง จำนวน 2 เส้นทาง วงเงินรวม 21,649  ล้านบาท ประกอบด้วย

3.1 ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 20.5 กม. วงเงิน 15,176 ล้านบาท

3.2 ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,473 ล้านบาท