เบื้องลึก “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” 400 บาท การเมืองบีบตั้งบรรทัดฐานใหม่

19 ก.ย. 2567 | 06:45 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2567 | 06:49 น.

ผ่าเบื้องลึก “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” 400 บาท องค์ประชุมไม่ครบรอบแรก รอนัดประชุมใหม่ 20 กันยายน 2567 จับตาการเมืองบีบ ตั้งบรรทัดฐานใหม่ ทั้งสูตรคำนวณอัตราค่าจ้าง และการลงมติบอร์ดไตรภาคี

นโยบาย “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ก๊อกแรกขยับขึ้นก่อน 400 บาทต่อวัน จากที่เคยชัดเจนว่าจะขึ้นทันวันที่ 1 ตุลาคม 2567 กลายเป็นว่า ไม่ชัวร์เสียแล้ว ภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดไตรภาคี ที่มีฝั่งภาครัฐ ลูกจ้าง และนายจ้าง ฝ่ายละ 5 คน เกิดองค์ประชุมไม่ครบ เพราะนายจ้าง 5 คน ไม่เข้าร่วมประชุม จนต้องเลื่อนมาประชุมในวันที่ 20 กันยายน นี้ เพื่อพิจารณาผลการกลั่นกรองข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดอีกครั้ง

แหล่งข่าวจากแวดวงแรงงาน เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า แท้จริงในการประชุมบอร์ดไตรภาคี เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา มีเบื้องหลังกรรมการฝ่ายนายจ้าง 5 คน อยากจะวอร์คเอาท์ด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายก็แค่ลากิจทั้งหมด หลังเห็นธงว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ รอบนี้ มีอะไรไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง

อย่างแรก นั่นคือ ข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ซึ่งมีสูตรการคำนวณที่อิงตามหลักเศรษฐศาสตร์ โดยนำปัจจัยต่าง ๆ เช่น อัตราสมทบของแรงงาน (Labor Contribution) ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ผลิตภาพแรงงาน (Productivity) อัตราเงินเฟ้อ และตัวแปรเชิงคุณภาพ แต่ในการเสนอครั้งนี้มีการตัด “ตัวแปรเชิงคุณภาพ” ซึ่งกำหนดให้การปรับอัตราค่าจ้างบวก-ลบได้ไม่เกิน 1.5% ออกไป แต่ใช้บรรทัดฐานใหม่คือตั้งฐานเอาไว้ที่ 400 บาทเลย

กรณีเช่นนี้กรรมการฝั่งนายจ้างอาจมองว่า เป็นการคิดที่ง่ายเกินไป โดยตั้งเอาตัวเลข 400 บาทเป็นบรรทัดฐาน เพราะถ้าใช้สูตรเดิม บางจังหวัดอาจจะมีค่าแรงขั้นต่ำไม่ถึง 400 บาทก็ได้ ซึ่งก็เป็นอัตราที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นอยู่แล้ว

อย่างที่สอง การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ครั้งที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานที่ประชุมได้ระบุว่า ในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 20 กันยายน 2567 นี้ ถ้าองค์ประชุม คือ ฝ่ายรัฐ ลูกจ้าง และนายจ้าง ฝ่ายละ 5 คน ไม่ครบ โดยหากขาดฝั่งนายจ้าง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 82 ก็เปิดให้ใช้มติ 2 ใน 3 ขององค์ลงมติเห็นชอบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ได้

แหล่งข่าวระบุว่า การดำเนินการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 82 ก็น่าสงสัยว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ เพราะถ้าใช้มติแค่ฝั่งรัฐและลูกจ้าง 2 ใน 3 ลงมติเห็นชอบค่าจ้างขั้นต่ำเลยก็คงแปลก เพราะบอร์ดไตรภาคี คือ ต้องมี 3 ฝ่าย หรืออย่างน้อยก็มีฝ่ายนายจ้างสัก 1 คน ดังนั้นถ้าเลือกใช้มติแค่ 2 ฝ่าย แม้จะเป็น 2 ใน 3 ก็คงไม่เหมาะสม และจะกลายเป็นบรรทัดฐานว่าต่อไปนี้มีแค่รัฐบาลกับลูกจ้าง ก็ปรับขึ้นค่าจ้างได้ 

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบรายละเอียดของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 82 กำหนดว่า การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างต้องมีกรรมการเข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด โดยมีกรรมการฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างอย่างน้อยฝ่ายละหนึ่งคน จึงจะเป็นองค์ประชุม

ในการประชุมเพื่อพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานหรืออัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามมาตรา 79 จะต้องมีกรรมการเข้าประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด โดยมีกรรมการฝ่าย นายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง อย่างน้อยฝ่ายละ 2 คนจึงจะเป็นองค์ประชุม และต้องได้มติอย่างน้อย 2 ใน 3 ของกรรมการที่เข้าประชุม

ในการประชุมเพื่อพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำคราวใด ถ้าไม่ได้องค์ประชุมตามที่กำหนด ไว้ในวรรคสอง ให้จัดให้มีการประชุมอีกครั้งหนึ่งภายใน 15 วันนับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก การประชุมครั้งหลังนี้แม้จะไม่มีกรรมการ ซึ่งมาจากฝ่ายนายจ้างหรือฝ่ายลูกจ้างเข้าร่วมประชุม ถ้ามีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด ก็ให้ถือเป็นองค์ประชุม และต้องได้มติ อย่างน้อย 2 ใน 3 ของกรรมการที่เข้าประชุม