ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท “พิพัฒน์” ประกาศทัน 1 ต.ค.67 แย้มข่าวดีปีหน้า

13 ก.ย. 2567 | 11:58 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2567 | 15:32 น.

รมว.แรงงาน “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” ประกาศ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ตามไทม์ไลน์ 1 ตุลาคม 2567 นี้ ขอแค่รอบอร์ดไตรภาคี สรุปตัวเลขทั้งหมดสัปดาห์หน้า แย้มปีหน้ามีข่าวดีอีก

วันนี้ (13 กันยายน 2567) ที่ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครังที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ ตอนหนึ่งเกี่ยวกับนโยบายด้านแรงงานของรัฐบาลว่า การประกาศปรับ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือ ค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2567 รอบใหม่ จะปรับขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศ วันละ 400 บาท ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้  

"ที่ผ่านมามีคนตั้งข้อสังเกตุว่ารัฐมนตรีจะไปแทรกแซง หรือกดขี่คณะกรรมการไตรภาคีได้หรือไม่ ขอยืนยันว่า ไม่ได้ไปแทรกแซง เพราะปลัดกระทรวงแรงงาน จะเป็นประธานคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี และแม้ว่ารัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร จะไม่ได้บรรจุในนโยบายรัฐบาล แต่ตัวเองสำนึกถึงความเหมาะสมถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่าควรอยู่ตรงไหน และเวลาไหน" นายพิพัฒน์ ระบุ

ทั้งนี้ยอมรับว่า นโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการดูแลแรงงาน ต้องเร่งทำใน 2 มิติหลัก คือ มิติของผู้ใช้แรงงาน และมิติของผู้ประกอบการ ซึ่งจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักไม่ให้เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง โดยตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตนเองก็ได้เป็นรมว.แรงงาน เมื่อรัฐบาลก่อนต่อเนื่องถึงรัฐบาลนี้ กระทรวงแรงงานได้คิด พิจารณา และหารือในหลายมิติเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ โดยได้ดูถึงความเหมาะสมมาตลอด

 

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท “พิพัฒน์” ประกาศทัน 1 ต.ค.67 แย้มข่าวดีปีหน้า

 

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ไทม์ไลน์ของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ แน่นอนว่าได้ประกาศเอาไว้แล้วว่า จะปรับขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ โดยปัจจุบัน กระทรวงแรงงานกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ ที่จะเสนอมาจากคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งจะนัดประชุมเพื่อพิจารณารายละเอียดในวันที่ 17 กันยายน 2567 และในวันที่ 24 กันยายน 2567 อีกครั้ง 

ทั้งนี้เมื่อคณะกรรมการไตรภาคีอนุมัติอัตราค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ 400 บาท ทั่วประเทศ แล้ว กระทรวงแรงงาน จะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ได้ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้แน่นอน

อย่างไรก็ดีอาจมีบางกลุ่มแรงงานที่ยังยังมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ถึง 400 บาท ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 กระทรวงแรงงานจะพิจารณา และประกาศอีกครั้งในวันที่ 1 มกราคม 2568 ต่อไป

ขณะที่ประเด็นการดูแลกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการนั้น กระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ไปติดตามสถานการณ์ และเจรจาไกล่เกลี่ย โดยเฉพาะในกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้างด้วย

รมว.แรงงาน ยังกล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับการใช้หนี้ให้กองทุนประกันสังคมว่า ปัจจุบันยังมีเงินที่รัฐบาลค้างจ่ายอยู่ 5 หมื่นล้านบาท แต่ในปี 2567 ได้รับการชำระคืนแล้ว 4,901 ล้านบาท และในปี 2568 จะได้รับการจัดสรรให้อีก 8,068 ล้านบาท คาดว่าในช่วงเวลา 7 ปีนี้ รัฐบาลจะใช้หนี้ให้กองทุนประกันสังคมได้หมด