รัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” แถลงนโยบายต่อรัฐสภา (12 ก.ย. 67) ประกาศ 10 นโยบายเร่งด่วนพร้อมทำทันที โดยนโยบายเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ และช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ การดูแลส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ของ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ
เร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาพลังงานและสาธารณูปโภค, การสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี และเศรษฐกิจใต้ดิน เข้าสู่ระบบภาษี, เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร เป็นต้น
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในภาพรวมมีความสอดคล้องกับที่ภาคเอกชนอยากเห็นและเคยนำเสนอแล้วในหลายเรื่อง อย่างไรก็ดีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ได้เตรียมนำเสนอสมุดปกขาวเพื่อนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นและระยะยาวต่อรัฐบาล คาดจะนำเสนอได้หลังรัฐบาลแถลงนโยบาย
สำหรับสาระสำคัญของสมุดปกขาวจะมีในหลายประเด็น อาทิ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การลดภาระค่าครองชีพประชาชน และต้นทุนของผู้ประกอบการ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นอกจาก 10 นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลประกาศจะเร่งดำเนินการทันทีแล้ว ในส่วนของหอการค้าฯ มีมุมมองเสริมเพิ่มเติมรัฐบาล เพื่อเร่งฟื้นเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น ดังนี้
1.การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ให้กระจายไปทุกภูมิภาค ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างเด่นชัด และควรเร่งจัดทำงบประมาณปี 2568 ให้เสร็จสิ้นตามกระบวนการหรือในกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้ยืดเยื้อเหมือนในปีที่ผ่านมา
2.เห็นด้วยกับรัฐบาลที่มีความชัดเจนในการแจกเงินกลุ่มเปราะบาง ที่คาดจะแจกได้ทันทีภายในเดือนกันยายน 2567 คาดใช้เม็ดเงินประมาณ 1.45 แสนล้านบาท หอการค้าฯ มองว่าส่วนใหญ่ประชาชนกลุ่มเปราะบางน่าจะใช้เงินทันที และจะมีพฤติกรรมการใช้จ่ายภายในจังหวัดที่อาศัยหรือจังหวัดใกล้เคียงเป็นหลัก ซึ่งสินค้าที่ผลิตในประเทศน่าจะได้รับอานิสงส์มากขึ้น จึงประเมินเบื้องต้นว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะช่วยเพิ่ม GDP ได้อีก 0.2-0.3%
3.การแก้ไขปัญหาสินค้าไม่ได้คุณภาพทะลักเข้ามาตีตลาดไทย รัฐบาลไทยต้องหารือกับทางการจีน ในประเด็นการควบคุมมาตรฐานของสินค้า และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร โดยเฉพาะมาตรฐานของฝั่งไทย ทั้ง มอก. อย. โดยทางการจีนจะต้องมีส่วนสำคัญในการช่วยคัดกรองสินค้าก่อนที่จะส่งออกมายังประเทศไทย
ขณะเดียวกันสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่หลุดลอดมาแล้ว รัฐบาลจำเป็นต้องใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีมาตรการที่บังคับให้แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ต่างชาติจำเป็นต้องเสียภาษีทั้ง VAT และภาษีรายได้ (จากยอดขาย ไม่ใช่กำไร) เพื่อทำให้สามารถจัดเก็บรายได้เข้าภาครัฐตามที่ควรจะเป็น
4.การรักษาโมเมนตัมภาคการท่องเที่ยว โดยเฉลี่ยนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 3 ล้านคน ส่วนนี้อยากให้มีการผลักดันและอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว รวมไปถึงการดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ตลอดจนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบริการ เพื่อให้นักท่องเที่ยวปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 36-37 ล้านคน
5.การส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูง โดยเฉพาะการส่งเสริมบทบาทของเกษตรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดและขยายผลไปในแต่ละจังหวัด ขณะเดียวกันรัฐบาลควรเร่งศึกษาโมเดลตัวอย่างเช่น จีน และเนเธอร์แลนด์ ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร นำไปสู่การยกระดับรายให้กับเกษตรกร
6.เร่งรัดให้รัฐบาลนำเอา Digital Transformation เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการและการบริการของภาครัฐกับประชาชน ซึ่งส่วนนี้จะช่วยอำนวยความสะดวก เกิดความรวดเร็ว และลดต้นทุนให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ
“ที่ผ่านมาประเทศไทยมีจีดีพีเติบโตเฉลี่ย 2% ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพและไม่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น ในระยะกลางและระยะยาวเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลต้องวางกลยุทธ์สำหรับประเทศ เพื่อทำให้จีดีพีของไทยในปีนี้เติบโตได้ 5% ต่อปี” นายสนั่น กล่าว
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า 10 นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลประกาศจะเร่งดำเนินการทันที ถือมีความสอดคล้องกับข้อเสนอขอภาคเอกชนที่เคยนำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้โดยส่วนใหญ่ เช่น การช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและสภาพคล่อง การปรับโครงสร้างหนี้ การลดต้นทุนด้านพลังงาน การเข้มงวดในการตรวจจับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน ราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ส.อ.ท.มีเรื่องเร่งด่วนที่อยากเสนอรัฐบาลคือ ขอให้ชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศตามที่รัฐบาลชุดก่อนเคยประกาศเอาไว้ก่อน ทั้งนี้ผู้ประกอบการภาคเอกชนยินดีให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยขอให้เป็นไปตามกลไกของอนุกรรมการไตรภาคีระดับจังหวัดที่จะเป็นผู้เสนอให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ไปก่อน เมื่อรัฐบาลชุดใหม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความแข็งแรงแล้วค่อยมาว่ากันอีกที
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4027 วันที่ 15 – 18 กันยายน พ.ศ. 2567