รัฐบาล ประกาศชัด “แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต” หลังนายกฯ นั่งปธ.บอร์ดเอง

19 ก.ย. 2567 | 07:03 น.
อัพเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2567 | 07:06 น.

รัฐบาลประกาศชัดเจนผลักดัน โครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) หลังนายกฯ “แพทองธาร ชินวัตร” ลงนามตั้ง บอร์ดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ เรียบร้อยแล้ว

วันนี้ (19 กันยายน 2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 321/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนั่งเป็นประธานคณะกรรมการด้วยตัวเอง 

ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นอันดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชนและการประกอบอาชีพ ด้วย

สำหรับคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานนั้น คาดว่า จะประชุมนัดแรกภายในสัปดาห์หน้า เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา หนึ่งในนั้นคือการผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะเป็นการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้กับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ ที่เข้ามาลงทะเบียนแล้วมากกว่า 36 ล้านคน

ขณะเดียวกันรัฐบาลกำลังเร่งยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทย-สหราชอาณาจักร โดยลงนามข้อตกลงหุ้นส่วนทางการค้าฉบับแรกในอาเซียน มุ่งขยายการค้า การลงทุน และการจ้างงานกว่า 20 สาขา โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศเข้าหารือ เพื่อเดินหน้ากระชับความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกับประเทศพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง 

ล่าสุด นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายดักลาส อเล็กซานเดอร์ รัฐมนตรีการค้าของสหราชอาณาจักร ซึ่งเดินทางเยือนเอเชียครั้งแรกนับตั้งแต่ได้ดำรงตำแหน่ง ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่แน่นแฟ้น (Enhanced Trade Partnership : ETP) นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความร่วมมือทางการค้า การลงทุน และการจ้างงาน ของไทยและสหราชอาณาจักร 

สำหรับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่แน่นแฟ้น นับเป็นข้อตกลงความร่วมมือทางการค้าฉบับแรกของรัฐบาลสหราชอาณาจักรชุดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สะท้อนถึงศักยภาพด้านเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานของไทยที่ยังคงน่าสนใจ รวมถึงความมุ่งมั่นในระดับการเมืองของไทยและสหราชอาณาจักร ที่จะขยายความร่วมมือในเรื่องการค้าและการลงทุนรอบด้าน 

โดยบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้จะรับรองแผนปฏิบัติการที่ระบุถึงกิจกรรมความร่วมมือที่สองฝ่ายจะดำเนินร่วมกันใน 20 สาขาสำคัญ ทั้งด้านยานยนต์ การท่องเที่ยว การลงทุน เศรษฐกิจดิจิทัล บริการทางการเงิน การศึกษา และอื่นๆ อีกมาก

นอกจากนี้ ในระหว่างการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีการค้าของสหราชอาณาจักร ทั้งสองฝ่ายยังหารือเพื่อร่วมพิจารณาความเป็นไปได้ในการเจรจา FTA ระหว่างกัน โดยต่างสนับสนุนการเริ่มเจรจาต่อเนื่องเพื่อขยายการค้า ผ่านการสร้างโอกาสทางธุรกิจโดยการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างกัน 

โดยเฉพาะในสินค้าศักยภาพของไทย เช่น ไก่แปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วน จักรยานยนต์และชิ้นส่วน และเครื่องจักรกล พร้อมทั้งได้เชิญชวนให้นักธุรกิจสหราชอาณาจักรมาลงทุนในไทย โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง เพิ่มเติมอีกด้วย